(เพิ่มเติม) "หม่อมอุ๋ย"ค้านขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ มองศก.ไทยยังฟื้นไม่เท่ากันทุกส่วน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 8, 2011 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรมว.คลังและอดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวในการสัมมนาหัวข้อ"ขีดแข่งขันและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้ค่าเงินบาทผันผวน"ว่า การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้จะเกิดจากซัพพลาย ไม่ใช่จากอุปสงค์ ดังนั้น หากใช้นโยบายดอกเบี้ยกดดันอุปสงค์ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้

เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจไทย แม้จะมีการฟื้นตัวแล้ว แต่ไม่ได้ฟื้นตัวเท่ากันทั้งหมดทุกภาคส่วน จะเห็นได้ว่าบริษัทขนาดใหญ่ฟื้นตัวแล้ว แต่บริษัทขนาดเล็กยังไม่ฟื้นตัว จึงควรจะใช้มาตรการที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเข้ามาสกัดเงินเฟ้อ เช่นที่ผ่านมาเคยมีการนำมาตรการ LTV มาใช้ เพื่อป้องกันการเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์

"การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อต้องแก้ให้ตรงจุด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบในทุกภาค กนง.ต้องคิดให้ตก หากจะใช้นโยบายดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่เท่ากัน หากเงินเฟ้อสูงถึง 7-8% ก็พร้อมสนับสนุนให้ใช้ดอกเบี้ยแก้ แต่เงินเฟ้อตอนนี้ยังไม่สูงมาก หรืออาจจะมีการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อขึ้นไปอีก เพราะห่วงภาพเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัวจริงจะถูกมาตรการดอกเบี้ยกดดันได้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นเหมือนสัญญาที่ผูกพันไว้แล้ว ซึ่ง ธปท.จะพยายามรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมาย 0.5-3.0% โดยอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในขณะนี้ไม่ได้เกิดจากด้านซัพพลายเท่านั้น แต่มีปัจจัยหลายด้านทั้งจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น และอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวได้ดี

ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจจีนและอินเดีย ประเทศในละตินอเมริกา และเอเชีย ที่เศรษฐกิจเติบโตมาก และมีการขยายตัวต่อเนื่องถึงปีนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ประเทศไทยเองก็มีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการอุปโภคบริโภคอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว แม้ว่าจะยังไม่ได้อยู่ในระดับที่ควรจะเป็นก็ตาม

นอกจากนี้ สภาพคล่องในตลาดการเงินโลก และสภาพคล่องในประเทศก็อยู่ในระดับสูง ทำให้มีการเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น และทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ทั้งตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาจากการคาดการณ์ว่าต้นทุนต่าง ๆ จะปรับตัวสูงขึ้น จึงเป็นปัจจัยเสริมที่เข้ามาหนุนให้ราคาสินค้าสูงชึ้น ธปท.จึงพยายามสร้างความเชื่อมั่นว่าต้นทุนเหล่านี้จะไม่เพิ่มสูงขึ้น และหากผู้ดำเนินนโยบายกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มการคาดการ์ต้นทุนว่าจะสูงขึ้นด้วย

นายประสาร กล่าวว่า ด้านสถานการณ์เงินทุนไหลเข้า-ออกไม่ได้สร้างคาวามหนักใจในขณะนี้ เพราะเข้าใจว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายจะมีความผันผวน ซึ่ง ธปท.เองก็มีมาตรการรองรับ และมีความร่วมมือระดับภูมิภาคด้วย ซึ่งคาดว่าในปีนี้และปีหน้าจะมีเงินไหลเข้าประเทศมาก ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังเกินดุลในปีนี้และปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจไทยและภูมิภาคจะมีอัตราเติบโตสูงกว่าสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่ต้องติดตามเรื่องราคาน้ำมัน หากราคาน้ำมันเบรนท์ปรับสูงขึ้นไปถึงระดับ 130 ดอลลาร์/บาร์เรล และทรงตัวอยู่ในระดับดังกล่าวไปถึงสิ้นปี ก็อาจจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยปรับจากเกินดุลเป็นขาดดุลได้ ซึ่งจะทำให้มมติฐานต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป แต่ก็มองว่าราคาน้ำมันในขณะนี้ยังไม่ได้กระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยมากนัก เนื่องจากคาดว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้นไปถึงระดับหนึ่งและทรงตัวในช่วง 1 -2 เดือนก่อนจะปรับลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ