"หม่อมอุ๋ย"แนะผลักดันใช้หยวนเป็นสกุลเงินกลางของเอเชีย,ผู้ว่า ธปท.ขานรับ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 8, 2011 15:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรมว.คลังและอดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวในการสัมมนา"ทิศทางเศรษฐกิจไทยภายใต้ความเปราะบางของเงินทุนเคลื่อนย้าย"ว่า มาตรการต่าง ๆ ในการดูแลค่าเงินบาทจะต้องทำให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งเงินสกุลเอเชียที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงเลยคือดอลลาร์ฮ่องกง และหยวนก็เปลี่ยนแปลงน้อยมาก ขณะเงินบาทช่วง 4-5 เดือนเปลียนแปลงไม่มากเช่นกัน อาจมีการอ่อนค่าลงบ้างเล็กน้อย สะท้อนว่าธปท.ใช้นโยบายที่ถูกต้อง ซึ่งหวังว่าจะดูแลได้ดีต่อไป

อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เสนอ 3 แนวทางดูแลอัตราแลกเปลี่ยนในระยะยาวเพื่อให้ค่าเงินในเอเชียเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยจะต้องเป็นความร่วมมือของสกุลเงินในเอเชีย แนวทางแรก คือ ดำเนินนโยบายตามระบบการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของจีนในลักษณะ exchange rate marketing ซึ่งจีนไม่ได้กำหนดค่าเงินคงที่ แต่มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้แข็งค่าทุก 6 เดือน ซึ่งเป็นการทยอยแข็งค่า แนวทางดังกล่าวมองว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะดำเนินการ แต่มีปัญหาว่าผู้ว่าธนาคารกลางแต่ละประเทศจะมีความร่วมมือกันได้หรือไม่

ทั้งนี้ แนวทางแรกจะนำไปสู่แนวทางที่ 2 คือการรวมเงินเป็นสกุลเงินเดียวกันในภูมิภาค หรือ currency unit แต่มองว่าเป็นแนวทางที่ทำได้ยาก ที่ผ่านมามีบทเรียนให้เห็นแล้ว คือประเทศในยุโรปที่มีการรวมตัวใช้สกุลเงินยูโร

และ แนวทางที่ 3 การใช้สกุลเงินอาเซียนเป็นสกุลเงินอ้างอิง คือ asean currency unit โดยให้แต่ละประเทศประกาศค่าเงินของตัวเอง เพื่อกำหนดค่าเงินสกุลอาเซียนเป็นสกุลอ้างอิง ซึ่งอาจจะมีการกำหนดใช้ทุก 1 ปีแล้วจึงมีการทบทวน ประเทศต่าง ๆ จะต้องหารือร่วมกันทุก 1 ปี เพื่อดูผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในเรื่องดุลการค้าและเรื่องอื่น ๆ ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะทำให้ค่าเงินของภูมิภาคอาเซียนมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริง

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า เห็นด้วยในการกำหนดอนาคตระยะปานกลางและระยะยาว ที่จะทำให้เงินหยวนทำหน้าที่เป็นสกุลเงินในภูมิภาคที่ใช้อ้างอิง แต่ต้องขึ้นกับรัฐบาลของจีนจะยินยอมให้เงินหยวนเข้ามีบทบาทในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งมองว่าระดับการพัฒนาของเศรษฐกิจและความต้องการของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน การมีสกุลเงินอ้างอิงจะทำให้เกิดความมั่นใจในการสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ โดยไม่ถูกกระทบจากเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ