นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายธุรกิจหลักทรัพย์ บล.ภัทร กล่าวในการสัมมนาหัวข้อ"แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาท และการรับมือของภาคเอกชน"ว่า โดยคาดว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันพรุ่งนี้จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในขณะที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นมากนั้นจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และอาจจะทำให้ความต้องการสินค้าลดลง ซึ่งราคาน้ำมันเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเป็นการปรับขึ้นไปถึงระดับเท่าใด และเป็นการปรับขึ้นชั่วคราวหรือถาวร
นายศุภวุฒิ กล่าวว่า บล.ภัทร จะมีการทบทวนอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศและการคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 54 จากที่เคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตราว 3.8% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3% แต่ขณะนี้มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งมองว่าหากราคาน้ำมันสูงไปถึง 140-150 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลก็จะเป็นระดับที่สร้างปัญหาต่อภาพรวมเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ป ระเทศไทยมีโอกาสที่จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองแต่เงินเฟ้อสูง (Stagflation) เหมือนในอดีตที่เคยเกิดขึ้นในปี 2516 เนื่องจากรัฐบาลและธนาคารทั่วโลกมีความเป็นห่วงและให้น้ำหนักปัจจัยที่เกี่ยวกับราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น จึงดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบผ่อนปรน ใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ย และควบคุมราคาสินค้า ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงกลไกตลาด และอาจทำให้เศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง เพราะการกดราคาสินค้าทำให้การจัดสรรทรัพยากรและเงินทุนมีความติดขัด ไม่เกิดประสิทธิในการผลิต ซึ่งต้องใช้เวลาแก้ไขปัญหาหลายปี
สำหรับเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางมีผลต่อราคาน้ำมันอย่างมาก เพราะแม้เป็นประเทศที่มีการผลิตน้ำมัน 1 ใน 3 ของโลก แต่ส่วนเกินของกำลังผลิตอยู่ที่ตะวันออกกลางถึง 80-90% โดยเฉพาะในซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันส่วนเกินถึง 5 ล้านบาร์เรล/วัน ดังนั้น หากเกิดเหตุการณ์ใดในตะวันออกลาง ก็จะกระทบทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นทันที
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นมาขณะนี้ยังไม่มีผลมากนักต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีปัจจัยชดเชยจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป ฟื้นตัวดีกว่าที่คาด
ด้านนางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า การประชุม กนง.พรุ่งนี้น่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เช่นกัน เพราะที่ผ่านมา ธปท.ได้ย้ำถึงการให้ความสำคัญกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบ
ประกอบกับ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในขณะนี้ ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลปัญหาเงินเฟ้อไม่ให้กระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางของหลายประเทศมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นางอุสรา มองว่า ราคาน้ำมันไม่น่าจะปรับขึ้นเกิน 150 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่หากขึ้นไปเกินกว่านั้นก็จะทำให้เกิดภาวะ oil shock ได้ และเมื่อถึงระดับนั้นอัตราดอกเบี้ยก็จะหยุดการปรับขึ้น
สำหรับค่าเงินบาท มองว่าช่วงครึ่งปีแรกเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในลักษณะ sideway โดย ธปท.ต้องเข้าไปดูแล จากการที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น ทำให้อาจไม่มีมาตรการ QE3 ขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเงินเฟ้อสูงขึ้น แต่ธนาคารกลางสหรัฐยังไม่มีการขึ้นดอกเบี้ย และลดการอัดฉีดสภาพคล่อง ดังนั้น อาจทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายชะลอลง และเริ่มมีการ take profit คาดว่าเงินบาทจะอยู่ที่ 31.20 บาท/ดอลลาร์
แต่ช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติไหลกลับมาลงทุนในภูมิภาคและไทย ซึ่งจะทำให้เงินบาทแข็งค่า โดยคาดว่าอยู่ที่ 29.50-30.00 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่แนวโน้มระยะยาว เงินบาทจะไม่แข็งค่าเร็วและแรงเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากไทยเกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดน้อยลง ประกอบกับ มีการเลือกตั้งและมีการนำเข้าสินค้าเพื่อลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็คต์
"มองว่าในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าจะเห็นเงินบาทแข็งค่าสูงสุด แล้วหลังจากนั้นจะเปลี่ยนแนวโน้มเป็นอ่อนค่า เพราะเรากำลังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้ง real sector และ financial sector"นางสาวอุสรา กล่าว