(เพิ่มเติม) กบง.มีมติไม่ชดเชยดีเซลเพิ่ม เหตุแนวโน้มราคาตลาดโลกเริ่มปรับลดลง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 8, 2011 18:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) มีมติไม่ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชดเชยราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศเพิ่มจากเดิม เนื่องสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวอ่อนลง

"ยังไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ค้าน้ำมันเพราะราคาขายปลีกยังไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ขณะที่ค่าการตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 94 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ค้ายังพอรับได้" นพ.วรรณรัตน์ กล่าว

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายเงินชดเชยราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในอัตราลิตรละ 5 บาท เพื่อตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้ปรับตัวสูงเกินลิตรละ 30 บาท ไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย.54

โดยราคาน้ำมันดิบดูไบขณะนี้อยู่ที่ 108.06 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลงจาก 111.63 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อวันที่ 7 มี.ค.และดีเซล อยู่ที่ 128.75 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลงจาก 131.38 ดอลลาร์/บาร์เรล ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีเงินไหลออก 302 ล้านบาท/วัน หรือประมาณ 9,054 ล้านบาท/เดือน นอกจากนี้ยังคาดว่าสถานการณ์ความไม่สงบในลิเบียจะคลี่คลายในเร็วนี้ หลังผู้นำลิเบียยอมเจรจากับฝ่ายตรงกันข้าม

ด้านนายศิวนันท์ ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน(สบพ.) กล่าวว่า ขณะนี้กองทุนน้ำมันฯ มีเงินสดสุทธิประมาณ 21,000 ล้านบาท จะสามารถดูแลราคาน้ำมันดีเซลไปได้จนถึงสิ้นเดือน เม.ย.นี้ตามนโยบายรัฐบาล ส่วนภาระหนี้ที่จะต้องจ่ายให้กับ บมจ.ปตท.(PTT) ในส่วนของการชดเชยราคาก๊าซธรรมชาติ(เอ็นจีวี) 7,500 ล้านบาท และชดเชยการนำเข้าก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติ(เอ็นจีวี)อีกกว่า 7,000 ล้านบาท ต้องใช้เวลาประมาณ 2-6 เดือนกว่าจะมีการเบิกจ่าย ซึ่งขึ้นอยู่กับกรมสรรพสามิตกับผู้เบิก คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายหลังเดือน เม.ย.54

ขณะที่กองทุนน้ำมันฯ มีรายได้เข้ามากว่า 2,000 ล้านบาท/เดือน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการจัดเก็บเงินในส่วนของเบนซิน 95 และ 91 แต่มีรายจ่ายกว่า 9,000 ล้านบาท/เดือน ส่วนใหญ่เป็นหนี้ค้างจ่ายชดเชยราคาและการนำเข้าทั้งเอ็นจีวี แอลพีจี และดีเซล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ