เลขาฯ สศช.เผยเศรษฐกิจระดับภาคโดยรวมปี 52 หดตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 8, 2011 18:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เผยปี 52 เศรษฐกิจระดับภาคโดยรวมหดตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจระดับประเทศ เนื่องจากการลดลงของการผลิตนอกภาคเกษตร และการชะลอลงของการผลิตภาคเกษตร

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่า ภาคที่มีการผลิตหดตัว ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีภาวะการผลิตลดลงร้อยละ 0.5, 9.8 และ 1.4 ตามลำดับ เนื่องจากการหดตัวของการผลิตนอกภาคเกษตร ภาคใต้ลดลงร้อยละ 0.1 เป็นผลมาจากการผลิตภาคเกษตรที่ลดลง ภาคกลางลดลงร้อยละ 4.7 ซึ่งลดลงทั้งการผลิตภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร

ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตกขยายตัวร้อยละ 3.7 และ 1.7 ตามลำดับ โดยเป็นการขยายตัวของการผลิตทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร

เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า โครงสร้างการกระจายรายได้จากการผลิต โดยพิจารณาจากสัดส่วนของมูลค่าผลิตภัณฑ์ภาค ณ ราคาประจำปีต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ในปี 52 ยังมีการกระจายตัวอยู่ในระดับเดิม โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีสัดส่วนสูงที่สุด ร้อยละ 42.0 ของ GDP สาขาการผลิตหลักของพื้นที่นี้ ได้แก่ อุตสาหกรรม การขายส่ง ขายปลีก และการขนส่งและคมนาคม ลำดับ

รองลงมาคือ ภาคตะวันออกมีสัดส่วนร้อยละ 15.6 ของ GDP มีสาขาการผลิตหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรม และเหมืองแร่ อันดับสาม คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีโครงสร้างการกระจายรายได้จากการผลิตร้อยละ 11.5 ของ GDP โดยมีสาขาการผลิตหลัก ได้แก่ เกษตรกรรม การขายส่งขายปลีก อุตสาหกรรม และการศึกษา

อันดับที่สี่และห้า คือ ภาคใต้และภาคเหนือ มีสัดส่วนร้อยละ 9.6 และ 9.4 ของ GDP ตามลำดับ โดยมีสาขาการผลิตหลัก ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการขายส่งขายปลีก อันดับหก คือ ภาคกลาง มีสัดส่วนร้อยละ 7.6 ของ GDP สาขาการผลิตหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรม และอันดับเจ็ด คือ ภาคตะวันตกมีสัดส่วนร้อยละ 4.3 ของ GDP สาขาการผลิตหลัก ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการขายส่งขายปลีก

เมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์ภาคต่อหัว(GRP per capita) พบว่า ค่าเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ภาคต่อหัวสูงสุดคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล เท่ากับ 329,885 บาท/ปี และลำดับรองๆ ลงมา คือ ภาคตะวันออก 309,985 บาท/ปี ภาคกลาง 228,016 บาท/ปี ภาคตะวันตก 106,048 บาท/ปี ภาคใต้ 93,616 บาท/ปี ภาคเหนือ 70,105 บาท/ปี และต่ำสุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 45,766 บาท/ปี ซึ่งมีความแตกต่างกับภาคที่มีค่าเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ภาคต่อหัวที่สูงที่สุดอยู่ถึง 7.2 เท่า

ทั้งนี้ อัตราการเพิ่มของผลิตภัณฑ์ภาคต่อหัวในปี 52 มีเพียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขยายตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 9.1 ขณะที่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ชะลอลงเหลือร้อยละ 1.7 และ 2.6 ตามลำดับ ส่วนภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลงร้อยละ 6.0, 7.2, 4.8 และ 0.2 ตามลำดับ

ในส่วนผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว พบว่า จังหวัดที่มีมูลค่าสูงส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ สำหรับจังหวัดที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวต่ำอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยค่าความแตกต่างระหว่างจังหวัดระยอง ซึ่งมีค่าเฉลี่ยต่อหัวสูงที่สุด คือ 915,195 บาท/ปี และจังหวัดหนองบัวลำภูมีค่าเฉลี่ยต่อหัวต่ำสุด คือ 33,912 บาท/ปี แตกต่างกัน ถึง 27 เท่า

ทั้งนี้ จังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ระยอง สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ และชลบุรี ตามลำดับ และจังหวัดที่อยู่ใน 5 ลำดับต่ำสุด คือ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร และนครพนม ตามลำดับ

สำหรับภาวะเศรษฐกิจส่วนรวมในปี 52 หดตัวร้อยละ 2.3 จากที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปี 51 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 42 เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติการณ์การเงินโลกที่มีผลต่อการผลิตเพื่อการส่งออก และภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยการผลิตนอกภาคเกษตรหดตัวร้อยละ 2.7 จากที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 ในปี 51

สาขาการผลิตที่หดตัว ได้แก่ อุตสาหกรรม การขายส่งขายปลีก การขนส่ง สถานที่เก็บสินค้าและคมนาคม และสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ในขณะที่การผลิตในสาขาอื่นๆ อาทิ ไฟฟ้า ก๊าซ และประปา มีการขยายตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 0.9 ตามแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าโดยรวมที่ชะลอลง

ส่วนสาขาการผลิตที่ขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นเล็กน้อย ได้แก่ การทำเหมืองแร่ และการก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 0.9 และ 0.4 ตามลำดับ โดยมีสาขาการศึกษา การบริการด้านสุขภาพ และลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคล ขยายตัวร้อยละ 5.3, 2.0 และ 1.9 ตามลำดับ

ภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 1.3 ชะลอลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 4.2 ในปีที่แล้ว โดยชะลอลงในหมวดพืชผล เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับความต้องการของตลาดโลกชะลอลงตามสภาพเศรษฐกิจถดถอย โดยพืชหลักที่การผลิตลดลง ได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ส่วนหมวดปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากการผลิตสุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ในขณะที่การบริการทางการเกษตรหดตัวร้อยละ 11.8 จากการที่พื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เก็บเกี่ยวลดลง ส่วนการป่าไม้ลดลงร้อยละ 11.6 ส่วนสาขาประมงขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 4.4

ทางด้านอุปสงค์ภายในประเทศ พบว่า การอุปโภคบริโภคของภาคครัวเรือน และการสะสมทุนถาวรเบื้องต้น ลดลงร้อยละ 1.1 และ 9.2 ตามลำดับ ส่วนการใช้จ่ายอุปโภคของรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23.9 เมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 7.8 ในปีที่แล้ว

ทั้งนี้ สศช.โดยสำนักบัญชีประชาชาติ(สบป.) ได้จัดทำสถิติผลิตภัณฑ์ภาคและจังหวัด(Gross Regional and Provincial Product) ปี 2552 เพื่อใช้เป็นเครื่องชี้วัดภาวะเศรษฐกิจและสังคมในระดับภาคและจังหวัดของประเทศไทยต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนและกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจในระดับพื้นที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ