คลังดันร่างกฎหมาย PPP เข้า ครม.ภายใน มี.ค.หวังผ่านสภาฯ สมัยนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 9, 2011 11:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) คาดว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ. PPP) ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวได้ ภายในเดือน มี.ค.54 หลังจากนั้นจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป หากไม่มีข้อติดขัดและคาดว่าจะเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรได้ภายในรัฐบาลนี้

ในวันนี้ สคร.ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ในส่วนของราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และในวันที่ 11 มี.ค.54 จะเป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ซึ่งหลังจากนั้นจะมีการสรุปรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเสนอต่อ รมว.คลัง ก่อนจะนำเสนอต่อครม.

สำหรับร่าง พ.ร.บ. PPP จะนำมาใช้ทดแทน พ.ร.บ.การให้เอกชนเข้าร่วมการงานในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ที่ไม่ได้รับความนิยม สาระสำคัญของร่างกฎหมายใหม่จะยังคงมูลค่าโครงการลงทุนที่ต้องดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว คือ วงเงิน 1,000 ล้านบาท แต่จะมีการกำหนดการคำนวณมูลค่าโครงการลงทุนให้ชัดเจน โดยจะมีการประกาศ รมว.คลัง ในการคำนวณมูลค่าโครงการ จากกฎหมายเดิมที่ให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการทำให้มีการกำหนดมูลค่าโครงการลงทุนไม่ถึง 1,000 ล้านบาท เพื่อไม่ต้องเข้าข่าย ดังนั้น จึงต้องมีการกำหนดกรอบการคัดเลือกโครงการที่ชัดเจน โปร่งใส ลดการทุจริต

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.PPP จะกำหนดเวลาในการอนุมัติโครงการเร็วขึ้นกว่ากฎหมายเดิม จาก 48 เดือน ลดเหลือ 12 เดือน โดยกำหนดกรอบพิจารณาโครงการจากกระทรวงต้นสังกัดภายใน 60 วัน จากเดิมไม่มีกรอบเวลา นอกจากนี้ จะมีคณะกรรมการตรวจสอบ มีคณะกรรมการ PPP committee มีคณะกรรมการอนุมัติโครงการร่วมทุน PPP และจะมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาโครงการให้ประสบความสำเร็จ โดยเงินในการตั้งกองทุนอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะใช้เงินงบประมาณ หรือเงินสนับสนุนทางอื่น เช่น เงินค่าซื้อซองประกวดราคา

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ที่แก้ไขใหม่นี้ถือเป็นครั้งแรกที่เปิดรับฟังความเห็นจากส่วนราชการผู้ใช้เม็ดเงินงบประมาณ เพื่อชี้แจงถึงเหตุผลของการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งการลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเป็นส่วนสำคัญของรัฐบาล และการที่มีเอกชนเข้าร่วมลงทุนถือเป็นการลดภาระการใช้เงินงบประมาณและทำให้การใช้เม็ดเงินลงทุนมีประสิทธิภาพ และการศึกษาแนวทางการลงทุนของภาครัฐ และเอกชน จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขกฎหมาย

"การแก้ ก.ม.เพื่อเน้นความโปร่งใสในการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลและเอกชน แต่ที่ผ่านมามีปัญหาตลาด และไม่เป็นที่นิยม ทำให้การลงทุนของเอกชนต้องนำโดยรัฐบาล และต่อไปการลงทุนจะมีมูลค่ามหาศาล เช่นการพัฒนาระบบน้ำที่ใช้เม็ดเงิน 1.7 ล้านล้านบาท การพัฒนาระบบราง ใน 4 ปีข้างหน้า ใช้เม็ดเงิน 170,000 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ร่วมมือกับจีน...วันนี้ไม่ได้แก้กฎหมายเพื่อการลงทุนใหญ่ แต่เพื่อโครงการลงทุนทุกประเภทที่สามารถร่วมทำกับภาคเอกชนได้" นายกรณ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ