พาณิชย์แนะผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากสิทธิ์ GSP เพื่อเพิ่มมูลค่าส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 9, 2011 15:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกควรเร่งใช้ประโยชน์จากสิทธิ GSP ที่ไทยยังคงได้รับให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มมูลค่าส่งออกไปตลาดดังกล่าว อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย

ปี 2553 ไทยส่งออกภายใต้สิทธิจีเอสพี ทุกระบบมีมูลค่า 12,860.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 20.50 และเมื่อเทียบกับมูลค่าส่งออกเฉพาะสินค้าที่ได้รับสิทธิไปยังประเทศผู้ให้สิทธิจีเอสพี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55.19 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 54.38 จากปีก่อน

การใช้สิทธิ GSP ปี 2553 มีมูลค่าการใช้สิทธิเพิ่มขึ้นกว่า 2,188 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีมูลค่าการใช้สิทธิเพิ่มขึ้นในทุกประเทศที่ให้สิทธิ GSP ส่งผลให้สินค้าจากไทยที่ส่งออกไปยังประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP สามารถลดหย่อนภาษีนำเข้าได้กว่า 510 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 15,000 ล้านบาท ซึ่งสิทธิพิเศษฯ GSP จะช่วยลดภาษีนำเข้า และเป็นแต้มต่อที่ช่วยสนับสนุนเพิ่มมูลค่าส่งออกของไทยไปยังตลาดหลัก ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และตลาดใหม่ เช่น กลุ่ม CIS และตุรกี

ปัจจุบันไทยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปจีเอสพี (GSP) จากประเทศต่าง ๆ รวม 44 ประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ แคนาดา ตุรกี และกลุ่ม CIS (รัสเซียและรัฐอิสระรวม 11 ประเทศ) โดยประเทศที่ใช้สิทธิ GSP สูง ได้แก่ สหภาพยุโรป (7,824.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สหรัฐฯ (3,611.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ตุรกี (594.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สวิตเซอร์แลนด์ (260.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) แคนาดา (228.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) กลุ่ม CIS (167.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ญี่ปุ่น (108.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) นอร์เวย์ (65.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ตามลำดับ

สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ GSP สูง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องประดับทำจากเงิน ยานยนต์สำหรับขนส่ง ยางเรเดียลรถบรรทุก เลนส์แว่นตา ถุงมือยาง เครื่องปรับอากาศ กุ้งแช่แข็ง กุ้งปรุงแต่ง สับปะรดกระป๋อง เป็นต้น

หากพิจารณาการใช้สิทธิ GSP ใน 2 ตลาดหลักของไทย เป็นดังนี้ ตลาดสหภาพยุโรป มีมูลค่าใช้สิทธิ GSP คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 1,170 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับปีก่อน

สินค้าที่ใช้สิทธิสูงได้แก่ ยานยนต์สำหรับขนส่ง เลนส์แว่นตา กุ้งแช่แข็ง ถุงมือยาง กุ้งปรุงแต่ง เครื่องปรับอากาศ และยางเรเดียลรถยนต์นั่ง เป็นต้น ตลาดสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าใช้สิทธิ GSP คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 725 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปีก่อน สินค้าที่ใช้สิทธิสูงได้แก่ เครื่องประดับทำจากโลหะเงิน ยางเรเดียลรถยนต์นั่ง ยางเรเดียลรถบรรทุก ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง เตาอบไมโครเวฟ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ