ค่าเงินยูโรทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (9 มี.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป หลังจากโปรตุเกสและกรีซประกาศขายพันธบัตรเพื่อระดมทุนในการกอบกู้วิกฤตการคลัง ขณะที่เงินปอนด์ดีดตัวขึ้นเนื่องจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางอังกฤษอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางในช่วงเย็นวันนี้ตามเวลาประเทศไทย
ค่าเงินยูโรทรงตัวที่ระดับ 1.3905 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์พ่งขึ้น 0.28% แตะที่ 1.6206 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันอังคารที่ 1.6160 ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐดีดตัวขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 82.700 เยน จากระดับ 82.660 เยน แต่ร่วงลง 0.61% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 0.9293 ฟรังค์ จากระดับ 0.9350 ฟรังค์
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐขยับขึ้น 0.08% แตะที่ 1.0103 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0095 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลง 0.22% แตะที่ 0.7375 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7391 ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินยูโรยังคงทรงตัวจากระดับของวันอังคาร เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหนี้ยุโรป หลังจากโปรตุเกสและกรีซนำพันธบัตรออกขายเพื่อระดมทุนในการแก้ไขปัญหาขาดดุลงบประมาณ โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะของกรีซ (PDMA) เปิดเผยว่า รัฐบาลกรีซได้ระดมทุนเพิ่มอีก 1.625 พันล้านยูโร (2.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ผ่านการออกพันธบัตรอายุ 6 เดือน โดยให้อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75% สูงกว่าการประมูลครั้งก่อนที่ระดับ 4.64% โดย PDMA ได้มีมุมมองบวกกับผลการออกพันธบัตรในครั้งนี้
มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลกรีซลงอีก 3 ขั้นสู่ระดับ B1 จากระดับ Ba1 ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นไปได้ว่า กรีซอาจจะผิดนัดชำระหนี้
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจของกรีซทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อรัฐบาลกรีซเปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า อัตราว่างงานภายในประเทศเดือนธ.ค.ปี 2553 พุ่งขึ้นแตะระดับ 14.8% จากระดับของเดือนพ.ย.ที่ 13.9%
นักลงทุนจับตาดูการประชุมธนาคารกลางอังกฤษซึ่งจะเสร็จสิ้นในช่วงเย็นวันนี้ตามเวลาประเทศไทย หลังจากมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ภายหลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของอังกฤษพุ่งขึ้นแตะระดับ 4.0% ในเดือนมกราคม จากระดับ 3.7% ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนม.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1% แตะที่ 4.3688 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2551 โดยตัวเลขสต็อกสินค้าภาคค้าส่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการคำนวณจีดีพีและมีอิทธิพลต่อการประเมินวงจรทางธุรกิจและการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ทางการสหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือนม.ค., รายงานงบประมาณของรัฐบาลกลางเดือนก.พ., ยอดค้าปลีกเดือนก.พ. และสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนม.ค.