Analysis: ผู้เชี่ยวชาญเชื่อรัฐบาลจีนสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้

ข่าวต่างประเทศ Thursday March 10, 2011 09:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ขณะนี้กำลังมีความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับแรงกดดันเงินเฟ้อจากการนำเข้าของจีนในปีนี้ และความเป็นไปได้ที่ราคาสินค้าอาจจะอยู่นอกเหนือการควบคุม หลังจากที่ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 29 เดือนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในลิเบีย

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่และนักเศรษฐศาสตร์ในกรุงปักกิ่งเชื่อว่า เงินเฟ้อจะไม่ดีดตัวขึ้นเหนือการควบคุม และรัฐบาลจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ที่ราว 4% ได้

นายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า กล่าวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาในระหว่างการเปิดการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (National People's Congress หรือ NPC) ว่า การดูแลราคาผู้บริโภคให้มีเสถียรภาพถือเป็นภารกิจสำคัญอันดับแรกในปีนี้ โดยรัฐบาลจะรักษาระดับของอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่ราว 4%

"ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างรวดเร็วในระยะนี้ และมีการคาดการณ์เรื่องเงินเฟ้อกันมากขึ้น ซึ่งปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ผลประโยชน์โดยรวม และเสถียรภาพในสังคม" นายกฯจีนกล่าว

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการควบคุมเงินเฟ้อ

โดยเงินเฟ้อของจีนในเดือนม.ค.ยังคงอยู่ที่ระดับสูงที่ 4.9% แม้ว่าจะมีการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อสกัดช่วงขาขึ้นของราคา โดยอัตราการขยายตัวสูงขึ้นจากระดับ 4.6% ในเดือนธ.ค. แต่ต่ำกว่าระดับสูงสุดในรอบ 28 เดือนที่ 5.1% เมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว

นายเหยา จิงหยวน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวในที่ประชุมเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า มีโอกาสน้อยมากที่เงินเฟ้อจะถีบตัวสูงขึ้นจนไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากการเก็บเกี่ยวธัญพืชที่อุดมสมบูรณ์ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งตลาดในภาคอุตสาหกรรมที่มีความสมดุลโดยรวม และกำลังการผลิตที่ล้นตลาดในบางอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนได้ขึ้นเพดานกันสำรองของธนาคารพาณิชย์มา 8 ครั้งแล้วนับตั้งแต่ต้นปี 2553 ส่งผลให้เพดานกันสำรองในปัจจุบันอยู่ที่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 19.5% และยังได้ขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

หยาง ซีเฉียง ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนสาขาจีหนาน กล่าวว่า จีนกำลังใช้มาตรการเพื่อลดสภาพคล่องที่สูงเกินไปในตลาดแต่เนิ่นๆ และเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมทั้งวางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการสร้างเสถียรภาพด้านราคาในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ราคาธัญพืชที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่ผันผวนรุนแรงทั่วโลก ตลอดจนราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทะยานขึ้น กำลังเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากต่างประเทศที่มีต่อจีน

หลี่ เตากุย ที่ปรึกษาด้านนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีน กล่าวว่า การพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกมีสาเหตุมาจากการใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณของสหรัฐ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำของประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบในตลาดนิวยอร์กดีดตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 29 เดือนที่ 105.44 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากสถานการณ์ความวุ่นวายที่ทวีความรุนแรงในลิเบีย

จาง หลี่ฉุน นักวิจัยของศูนย์วิจัยการพัฒนาภายใต้สังกัดคณะรัฐมนตรีจีน กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากต่างประเทศที่จีนเผชิญอยู่นั้น ไม่ได้สูงอย่างที่ประชาชนทั่วไปคิดกัน เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกที่ทะยานขึ้นนั้น เป็นเพียงชั่วคราว

"กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในโลกฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินได้อย่างแข็งแกร่ง แต่ประเทศเหล่านี้ก็ต้องรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ในประเทศเหล่านี้จะลดลง เนื่องจากมีการใช้มาตรการต่างๆเพื่อชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจในปีนี้" นายจางกล่าว

นายจางยังกล่าวด้วยว่า ประเทศพัฒนาแล้วฟื้นตัวค่อนข้างช้า ซึ่งจะไม่ส่งเสริมให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ราคาสินค้าในปีนี้จะยังคงมีเสถียรภาพ และเป้าหมายที่จะรักษาระดับของเงินเฟ้อให้อยู่ที่ 4% นั้นก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้

เพื่อรับประกันความเชื่อมั่นของประชาชน นายกฯจีนกล่าวว่า จีนมีอุปทานผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสำคัญๆล้นตลาด มีสต็อกธัญพืชเป็นจำนวนมาก และมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจำนวนมหาศาล ซึ่งรัฐบาลระบุว่า จะใช้ประโยชน์จากปัจจัยเหล่านี้ให้มากที่สุดเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ

รัฐบาลจีนยังได้ใช้มาตรการบริหารจัดการสภาพคล่อง การเพิ่มการผลิต และการกวาดล้างการเก็งกำไรและการกักตุนสินค้าอย่างเข้มงวด เพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวทางการควบคุมเงินเฟ้อของรัฐบาล

หลิว ซินหยง จากสำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ