SCB EIC ระบุไทยติดกลุ่ม 16 ประเทศเสี่ยงสูงสุดจาก climate change

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 10, 2011 14:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเมธินี จงสฤษดิ์หวัง ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเสี่ยงสูงสุดจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (climate change) ในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยมีความเสี่ยงสูงเป็นอันดับที่ 14 จาก 170 ประเทศทั่วโลก และยังเป็นตัวการสำคัญในการก่อปัญหาโลกร้อนด้วย

ทั้งนี้ climate change มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่าน 3 ช่องทางหลัก คือ ราคาพลังงานสูงขึ้น ราคาสินค้าเกษตรแพงขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ขณะที่ภาคธุรกิจต่างๆ ก็มีแนวโน้มได้รับผลกระทบในวงกว้างเช่นเดียวกัน

สำหรับไทยพบว่า ภาวะแห้งแล้งผิดปกติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศลดลงต่อเนื่องราว 3% ต่อปี และทำให้ผลผลิตพืชผลหลักลดลงราว 2% ต่อปี ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวและจำนวนนักท่องเที่ยวในไทย ที่เห็นชัดเจนคือ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและความเสียหายจากปะการังฟอกขาวที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นแหล่งรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงกว่า 5 ล้านคนต่อปี หรือเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในไทย หากปล่อยทิ้งไว้ พื้นที่แถบชายฝั่งอันดามันอาจหายไปสูงสุดถึง 13,000 ไร่ หรือเกือบ 15% ของเนื้อที่ทั้งหมดของ 4 จังหวัดที่ถูกกระทบ

นอกจากนี้ climate change ยังทำให้เกิดกฎกติกาด้านสิ่งแวดล้อม และการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในรูปแบบใหม่ๆ ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นความท้าทายและแรงกดดันสำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจในอนาคต แต่หากภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้ก็จะช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจ สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในอนาคต รวมทั้งยังช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรควบคู่กันไป

“ถึงแม้ climate change จะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีความละเอียดอ่อนและส่งผลกระทบต่อเราทุกคน แต่การตอบสนองต่อประเด็นดังกล่าวโดยทันที โดยไม่ได้ชั่งข้อดีข้อเสียอย่างถ้วนถี่ก็คงจะไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมมากนักในสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดคือ การพยายามดึงเอาข้อดีของกิจกรรมหรือโครงการนั้นๆ ออกมาให้ได้มากที่สุด และหาทางลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป เพื่อให้ทั้งเราและโลกใบนี้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน” นางเมธินี กล่าว

นางสาวปราณิดา ศยามานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโสของ SCB EIC กล่าวว่า นอกจากผลกระทบที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว climate change ยังมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่างๆ ในวงกว้าง ทั้งในแง่ปัญหาการขาดแคลนปัจจัยการผลิตและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพาน้ำมันและวัตถุดิบทางการเกษตรเป็นปัจจัยการผลิตสูง รวมไปถึงธุรกิจอื่นๆ ที่มีปัจจัยการผลิตเชื่อมโยงกับภาคท่องเที่ยว และธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น ขนส่งและคมนาคม ปิโตรเลียม เหล็ก และปูนซีเมนต์ ซึ่งอาจต้องถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นหรือซื้อคาร์บอนเครดิต หากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด หรือแม้แต่ต้องเผชิญกับการกีดกันทางการค้าในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งกลายเป็นแรงกดดันสำคัญให้ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัว"

ด้านนางสาววิชชุดา ชุ่มมี นักวิเคราะห์อาวุโสของ SCB EIC กล่าวว่า ผู้ประกอบการจึงควรใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงพัฒนาธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อรองรับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ การพัฒนานวัตกรรมอาหารแช่แข็งเพื่อสุขภาพของผู้ผลิตอาหารทะเลแช่แข็งรายหนึ่งที่ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกลงได้มากถึง 65% หรือเทียบเท่าการปิดไฟนีออน 3,000 ดวงเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งนอกจากจะลดต้นทุนแล้ว ยังคาดว่าจะช่วยให้ยอดขายของผลิตภัณฑ์ในปีนี้เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 15% อีกด้วย หรือแม้แต่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวภาพจากมูลสัตว์ของฟาร์มสุกร 19 แห่งที่เข้าร่วมโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) ที่สามารถลดต้นทุนด้านพลังงานและสร้างรายได้เพิ่มจากการขายคาร์บอนเครดิตได้มากถึงเกือบ 60 ล้านบาทต่อปี

ข้อมูลล่าสุดในปี 2007 พบว่า ไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 25 ของโลก ขณะที่กรุงเทพฯ มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในปริมาณที่เกือบเท่ากับลอนดอน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าถึงเกือบ 10 เท่า จากการศึกษาพบว่า climate change มีผลให้ความต้องการและราคาพลังงานสูงขึ้น โดยคาดว่าความต้องการพลังงานโลกมีแนวโน้มเติบโตราว 1.2% ต่อปี ในอีก 20 กว่าปีข้างหน้า รวมทั้งทำให้ความต้องการพลังงานทดแทนมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วและเกิดการรุกพื้นที่เพื่อปลูกพืชพลังงานมากขึ้น

SCB EIC (Economic Intelligence Center) ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (climate change) รวมทั้งผลกระทบของ climate change ที่มีต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่พบผลการศึกษาที่เผยแพร่เป็นการทั่วไปในไทย โดยการศึกษาได้มุ่งเน้นไปที่ความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดจาก climate change และการมุ่งสู่กระแสเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือและเร่งปรับตัว จากการศึกษาพบว่า climate change ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ