นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในตอนหนึ่งของการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์เรื่องการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ร่วมกับผู้ว่าราชการ 4 จังหวัด คือ พิษณุโลก, ลพบุรี, ร้อยเอ็ด และยโสธร ว่า รัฐบาลเตรียมจะดำเนินการจัดทำเขตส่งเสริมพิเศษด้านการเกษตร โดยจะเริ่มนำร่องที่ จ.ร้อยเอ็ด ก่อนเป็นพื้นที่แรก
ทั้งนี้เป้าหมายของการจัดทำเขตส่งเสริมพิเศษด้านการเกษตรนั้น ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการสร้างโอกาสหรือสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเท่านั้น แต่จะเน้นการสร้างคุณภาพผลผลิตข้าวไทยให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในตลาดต่างประเทศ ซึ่งสิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการคือ การลดต้นทุนการผลิต และการปรับโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความร่วมมือกันมากขึ้น
"รัฐบาลจะทำเขตส่งเสริมพิเศษทางการเกษตร มีร้อยเอ็ดเป็นเป้าหมายก่อน เราจะไม่เน้นสร้างแค่โอกาสหรือรายได้ แต่จะต้องสร้างคุณภาพผลผลิตข้าวไทยให้ได้รับการยอมรับสูงขึ้น" นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า รัฐบาลจะเดินหน้านโยบายโครงการประกันรายได้เกษตรกรต่อไป พร้อมขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากนโยบายนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อให้โครงการประสบผลสำเร็จและให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับเกษตรกรอย่างแท้จริง
โดยส่วนหนึ่งที่รัฐบาลพยายามดำเนินการ คือ การทำให้ประชาชนในระดับฐานรากมีความเข็มแข็ง มีรายได้ที่ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหาภัยธรรมชาติ ตลอดจนปัญหาต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจมีความเข้มแข็งตั้งแต่ฐานราก
อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าประชาชนยังได้รับความเดือนร้อนจากปัญหาสินค้ามีราคาแพง และค่าครองชีพสูง เนื่องจากต้นทุนสินค้าหลายชนิดต่างปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยยอมรับว่าในจุดนี้อาจจะแก้ไขได้ยาก และกระทรวงพาณิชย์สามารถแก้ไขได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่จะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนหรือได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวน้อยสุด คือ การสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะพยายามเดินหน้าโครงการต่างๆ ที่จะทำให้ประชาชนมีรายได้ดีขึ้นต่อไป
"ประชาชนเดือดร้อนจากของแพง ยอมรับว่าแก้ยาก เพราะเมื่อต้นทุนขึ้น กระทรวงพาณิชย์ก็ทำได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเราทำให้รายได้สูงขึ้นเพื่อสู้กับของแพง จะดีกว่า ดังนั้นต้องเพิ่มเงินในกระเป๋าผ่านโครงการต่างๆ ซึ่งรัฐบาลจะเดินหน้าต่อไป" นายกรัฐมนตรี กล่าว
ส่วนโครงการประกันภัยพืชผลอันเนื่องจากภัยธรรมชาตินั้น ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดวางแนวทางให้เป็นระบบมากขึ้น โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ และเชื่อว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในช่วงปลายปีเป็นต้นไป