Xinhua's Interview: นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชี้จีนลดเป้าหมายการเติบโตศก.เป็นเรื่องเหมาะสม

ข่าวต่างประเทศ Friday March 11, 2011 12:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ไมเคิล สเปนซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า จีนกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่มีความซับซ้อน ซึ่งการลดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วง 5 ปีข้างหน้านั้นถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาด

สเปนซ์ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์แห่งสแตนด์ฟอร์ด บิสิเนส สคูล และได้รับรางวัลโนเบลสาขาวิทยาศาสตร์เศรษฐกิจเมื่อปี 2544 กล่าวในการประชุมที่กรุงวอชิงตันดีซีว่า จีนได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในเรื่องต่างๆ เช่น ประสิทธิภาพด้านพลังงาน ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และการลงทุนด้านสังคม ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาดเช่นกัน

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นายเหวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (National People's Congress หรือ NPC) ว่า รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 7% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี และมีจุดประสงค์ที่จะผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวอย่างมีคุณภาพ

สเปนซ์กล่าวต่อไปว่า สมดุลทางเศรษฐกิจของจีนกำลังเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหมายความว่า จีนจะไม่พึ่งพาการส่งออกมากจนเกินไป

สำหรับความกังวลของนักเศรษฐศาสตร์หลายคนในเรื่องรูปแบบการเติบโตของจีนว่าอาจจะทำให้การขยายตัวไม่เป็นไปอย่างยั่งยืนนั้น สเปนซ์มองว่า จีนรับรู้ว่ามีปัญหาและได้ใช้มาตรการต่างๆเพื่อแก้ปัญหา อย่างไรก็ดี กระบวนการแก้ปัญหาไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ในช่วงเวลาข้ามคืน

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลกล่าวว่า รูปแบบการส่งออกในภาคการผลิตที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากนั้นจะเลือนหายไปในที่สุด และจะถูกแทนที่ด้วยรูปแบบอื่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จีนจะไม่มีการส่งออกอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นการส่งออกสินค้าที่ค่อนข้างจะมีมูลค่าเพิ่มสูงแทน

สเปนซ์กล่าวว่า จีนและประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายประเทศได้ใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพมากในการรับมือกับวิกฤตการเงินและช่วงขาลงของศรษฐกิจโลก ปัจจุบันประเทศเหล่านี้ก็มีสถานะที่ดีขึ้น เมื่อพิจารณาจากมุมมองเรื่องหนี้สินของรัฐบาล

เขากล่าวว่า การขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดเกิดใหม่ทำให้รูปแบบการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแลงไปด้วย ซึ่งความสำคัญในเชิงระบบของตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะในประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่กว่าอย่างจีนและอินเดียนั้น มีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมาก

สเปนซ์กล่าวด้วยว่า จีนได้เข้าสู่ช่วงเวลาของการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเพื่อพลิกโฉมเป็นประเทศที่มีรายได้ในระดับปานกลาง ซึ่งจะทำให้โครงสร้างที่ซับซ้อนของเศรษฐกิจจีนเปลี่ยนแปลงไปด้วย สำหรับแนวโน้มของการเติบโตของจีนนั้น สเปนซ์มองว่า หากจีนสามารถปฏิบัติตามแผนพัฒนาฉบับที่ 12 ระยะเวลา 5ปี (2554-2558) ได้เป็นอย่างดี เศรษฐกิจจีนก็จะสามารถขยายตัวอย่างยั่งยืนได้

หลิว หลี่นา จากสำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ