นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมแนวทางไว้หลายมาตรการเพื่อรอเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก่อนจะมีผลบังคับใช้ในทางกฎหมาย
สำหรับมาตรการที่สำคัญ เช่น 1.กรณีการควบรวมกิจการนั้น จะมีการยกเว้นภาษีเงินได้ อากรแสตมป์จากการแลกหุ้น, การให้ยอมให้นับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อเนื่องภายหลังจากการควบรวมกิจการ, สถาบันการเงินหรือบริษัทประกันภัยที่ควบรวมกิจการ ไม่ต้องนำเงินสำรองมาคำนวณเป็นรายได้ในรอบบัญชีสุดท้ายที่มีการควบรวมกิจการ, บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการ สามารถนับเวลาการถือหุ้นในบริษัทมหาชน บริษัทจำกัด หรือถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมต่อเนื่องจากบริษัทเดิมก่อนควบรวมกิจการได้ เพื่อประโยชน์ในการได้รับยกเว้นภาษีเงินปันผลตามมาตรา 65 ทวิ(10)
2.ให้บริษัทจำกัดที่ได้รับเงินปันผลจากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้รับข้อยกเว้นภาษีเงินปันผลทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการขจัดการชำระภาษีที่ซ้ำซ้อน 3.การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนในตราสาร Sukuk เป็นต้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้อยู่ระหว่างรอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
อธิบดีกรมสรรพากร ยังกล่าวถึงการปรับปรุงโครงสร้างภาษีว่า คาดว่าคณะทำงานปรับปรุงโครงสร้างภาษีของกรมสรรพากรจะนำเสนอรายละเอียดของรูปแบบการปรับโครงสร้างภาษีมาให้พิจารณาภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ ซึ่งจะเป็นการดำเนินการปรับโครงสร้างภาษีให้มีความสอดคล้องกันทั้ง 3 กรมที่จัดเก็บรายได้ คือ กรมสรรพากร, กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร
โดยการปรับโครงสร้างภาษีนี้จะดำเนินการในทุกด้านให้ครอบคลุม คือไม่เฉพาะการปรับอัตราภาษีเท่านั้น แต่จะครอบคลุมไปถึงการคำนวณภาษี, วิธีการยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษี, การอุดช่องโหว่ของกฎหมาย รวมถึงการปรับกฎหมายให้มีความเป็นสากลเพื่อให้สอดคล้องกับระบบการจัดเก็บภาษีในอาเซียนด้วย
อย่างไรก็ดี ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 54 (ต.ค.53-ก.พ.54) กรมสรรพากรได้ดำเนินการออกกฎหมายใหม่ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วรวม 27 ฉบับ และยังเหลืออีก 11 ฉบับที่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการเพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้
ด้านนายมานิต นิธิประทีป รองอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ภายใน 2 สัปดาห์นี้คณะทำงานฯ จะนำเสนอแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างภาษี(Blue Print) ต่ออธิบดีกรมสรรพากรให้ได้พิจารณา ก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลังเป็นประธาน โดยยืนยันว่าการปรับปรุงโครงสร้างภาษีในครั้งนี้ จะทำให้เอกชนสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ และที่สำคัญต้องเกิดความเป็นธรรม
"การปรับโครงสร้างภาษีนี้เราจะทำเป็น Blue Print และมีหลาย options เสนอต่อท่านอธิบดีใน 1-2 สัปดาห์นี้ เป็นการเสนอรายละเอียดก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมชุดใหญ่" รองอธิบดีกรมสรรพากร กล่าว พร้อมคาดว่าการปรับปรุงโครงสร้างภาษีน่าจะเห็นความชัดเจนได้ใน 2 เดือนต่อจากนี้
ด้านนางวณี ทัศนมณเฑียร ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการป้องกันช่องว่างของกฎหมายภาษีอากรในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 1.การจัดตั้งคณะบุคคลขึ้นเพื่อเลี่ยงการชำระภาษีในอัตราสูง 2.กรณีเงินได้วิชาชีพอิสระบางประเภท เช่น แพทย์ 3.การหักค่าใช้จ่ายของเงินได้ประเภทค่าเช่าในวิชาชีพอิสระ และรับเหมาก่อสร้าง
4.การหักภาษี ณ ที่จ่ายในการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นมรดก หรือได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร 5. เงินได้จากแหล่งเงินได้ที่อยู่ต่างประเทศ 6. นิยามของคำว่า "ขาย" 7.อำนาจเจ้าพนักงานประเมิน และ 8.องค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์