แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงและคลื่นยักษ์สึนามิในญี่ปุ่นที่คาดว่า จะคร่าชีวิตผู้เคราะห์ร้ายกว่า 10,000 คนในญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ ได้จุดปะทุให้เกิดความวิตกกังวลว่า เหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เพียงแต่เฉพาะเศรษฐกิจในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเศรษฐกิจทั่วโลกด้วย
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนมากมีมุมมองที่ตรงกันว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบในขณะนี้ เนื่องจากยังเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิตามมาอย่างต่อเนื่อง
จิม โอนีล ประธานโกลด์แมน แซคส์ แอสเซท เมเนจเมนท์ กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะประเมินความเสียหายและต้นทุนความเสียหายได้ทั้งหมดในขณะนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม โอนีลได้ประเมินความเสียหายหลักๆในญี่ปุ่นไว้ 2 ด้านด้วยกัน อย่างแรกคือ ความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการผลิตในพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีผลผลิตในสัดส่วน 8% ของตัวเลขจีดีพีญี่ปุ่น เนื่องจากบริษัทผลิตรถยนต์หลายรายได้รับผลกระทบอย่างหนักจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ และทำให้มีการปิดโรงงานผลิตรถยนต์ถึง 22 แห่งในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงโรงงานของบริษัทผลิตรถยนต์กลุ่มบิ๊กทรี ซึ่งได้แก่โตโยต้า ฮอนด้า และนิสสัน
ความเสียหายประการที่สองคือ ผลกระทบที่มีต่อซัพพลายเชนในตลาดโลก เนื่องจากญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดัคเตอร์และวัตถุดิบต่างๆ เมื่อระบบการขนส่งได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว กลุ่มผู้ผลิตในญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆก็จะได้รับผลกระทบจากภาวะอุปทานขาดแคลนในช่วงหลายเดือนข้างหน้านี้
วูล์ฟกัง เลียม ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับญี่ปุ่นจากธนาคารคอมเมิร์ซแบงก์ คาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัวลงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่ เจอร์ราร์ด ลีอองส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด เตือนว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจในระยะสั้น
แผ่นดินไหวที่ถล่มญี่ปุ่นเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับรัฐบาลต้องแบกรับภาระหนี้สาธารณะที่คิดเป็นสัดส่วนเกือบสองเท่าของจีดีพี และถือเป็นระดับสูงสุดในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) นอกจากนี้ ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวจากสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ลงมาอยู่ที่ระดับ AA- จากระดับ AA
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูภายหลังจากเกิดแผ่นดินไหวและสึนามินั้น อาจสร้างความเสียหายให้กับสถาบันการเงินในญี่ปุ่นซึ่งแบกรับภาระหนี้สินหนักอยู่ก่อนแล้ว นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ได้แสดงความกังวลว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้จะส่งผลให้ญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นและอาจทำให้ต้นทุนการระดมทุนของรัฐบาลสูงขึ้นด้วย
โอนีกล่าวว่า การฟื้นตัวส่วนใหญ่ของเศรษฐกิจญี่ปุ่นถูกขับเคลื่อนด้วยการส่งออก แต่ทันทีที่เงินเยนพุ่งขึ้น 1.4% หลังจากเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ ก็ส่งผลให้เกิดความกังวลว่า เงินเยนที่แข็งค่าจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมส่งออกของญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ของยูบีเอสกล่าวว่า แม้เงินเยนได้รับแรงกดดันอย่างหนัก แต่คาดว่าเงินเยนจะไม่เคลื่อนตัวหลุดจากระดับ 80 เยนต่อดอลลาร์ เพราะเชื่อว่าหากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเข้ามาแทรกแซงทันที
นักวิเคราะห์บางรายมองว่า ผลกระทบของแผ่นดินไหวที่มีต่อเศรษฐกิจโลกนั้น จะเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะสั้นๆ ขณะที่อัลเฟรโด เคาทิโน นักเศรษฐศาสตร์จากมูดีส์ อนาไลติคส์ เชื่อว่า การบูรณะฟื้นฟูในญี่ปุ่นจะช่วยกระตุ้นการค้าทั่วโลกให้ฟื้นตัวขึ้น สำนักข่าวซินหัวรายงาน