NIDA คาด GDP ไทยปีนี้อาจโตไม่ถึง 4%เหตุส่งออกรถยนต์ชะลอจากภัยพิบัติญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 14, 2011 17:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงผลกระทบต่อประเทศไทยจากการที่ญี่ปุ่นประสบกับภัยธรรมชาติแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิเข้าถล่มประเทศว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการนำเงินเข้ามาลงทุนมากเป็นอันดับ 1 ของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมดในไทยต้องชะลอลง เนื่องจากญี่ปุ่นคงต้องมีการสนับสนุนความช่วยเหลือ ฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่

และความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างประเทศกับประเทศญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของภาคการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ภาคการส่งออกในช่วงระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้า จะเกิดการชะลอตัวลง เพราะภาคการส่งออกของไทยมีความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างประเทศกับญี่ปุ่นในสัดส่วนที่มาก

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ไทยส่งออกมากในปีที่ผ่านมาจะเกิดการชะลอตัวลง เนื่องจากเกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนบางอย่าง วัสดุบางชนิด ที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นกับอุตสาหกรรมในประทศญี่ปุ่นเช่นนี้ ภาคการผลิตของไทยย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"ด้วยเหตุนี้เอง การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีการคาดการณ์กันว่า จะสามารถขยายตัวได้ถึง 4 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้อาจจะไปไม่ถึง เนื่องจากผลกระทบด้านการส่งออกที่ต้องชะลอตัวลง"นายมนตรี ระบุ

ทั้งนี้ สถานการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่น นอกจากจะกระทบกับระบบเศรษฐกิจภายในประเทศเองแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจภายนอกประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ปัจจัยใดที่สร้างผลกระทบให้เกิดกับการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจภายใน ย่อมส่งผลกระจายวงกว้างไปยังประเทศอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันด้านการลงทุน รวมทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะไทยที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงด้านการค้า และด้านการลงทุนกับญี่ปุ่นในสัดส่วนที่มาก

ดังนั้น การเตรียมพร้อมตั้งรับต่อทุกสถานการณ์อย่างมีสติ จึงมีความเหมาะสมอย่างที่สุด ทั้งนักลงทุน และประชาชนทุกฝ่ายไม่ควรตื่นตระหนกต่อสถานการณ์ ขณะที่รัฐบาลไทยควรมีมาตรการแก้ไขสถานการณ์เศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการส่งออก หากเกิดภาวะสั่นคลอนในระบบเศรษฐกิจในประเทศยาวนาน ทั้งนี้ ผลกระทบจะเกิดมากน้อย และยาวนานเพียงใดนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับทางรัฐบาลญี่ปุ่น ว่าจะสามารถแก้ไขภาวะดังกล่าวได้ในระยะเวลาเท่าใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ