นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนต่อประเทศไทยกับกรณีพิบัติภัยในญี่ปุ่นว่า ในช่วงแรกสินค้าไทยที่อาจถูกกระทบจากกำลังซื้อชะลอตัว เช่น กลุ่มยานยนต์ กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แต่จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปเพื่อทดแทนส่วนที่เสียหาย ทำให้ภาพรวมทั้งปีอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ได้
แต่ในระยะปานกลางนักลงทุนญี่ปุ่นที่ถูกผลกระทบจากภัยสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นจะมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีต้นทุนประกอบการถูกและยังใกล้แหล่งผลิต ซึ่งมีความคุ้มค่ามากกว่าการฟื้นฟูโรงงานในญี่ปุ่นใหม่ และเพื่อกระจายความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะปัญหาแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในญี่ปุ่น
ขณะเดียวกันไทยยังจะได้รับประโยชน์จากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ อาหารสดแห้ง ผักผลไม้ และกลุ่มผลิตภัณฑ์เหล็ก อลูมิเนียม พลาสติก สินค้าเครื่องจักรกลเช่นลิฟท์ บันไดเลื่อน เนื่องจากบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งใช้ไทยเป็นฐานการผลิต
ด้านนายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ธนาคารมีส่วนปล่อยกู้ให้กับลูกค้าญี่ปุ่นที่มาลงทุนในไทยผ่านความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่น 14 แห่ง มูลค่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งไม่น่าจะมีผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อ เนื่องจากส่วนใหญ่ผลิตและขายในไทย
อย่างไรก็ตาม มีนักลงทุนญี่ปุ่นที่มาลงทุนในไทยจำนวน 7,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นลูกค้าธนาคารกสิกรไทย 2,500 ราย แม้จะไม่ถูกกระทบจากปัญหาสึนามิในระยะสั้น แต่ธนาคารอยู่ระหว่างการการทบทวนการอนุมัตสินเชื่อให้แก่บางอุตสาหกรรม