นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับผู้ส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่น เช่น กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมหนัก, สินค้าอาหาร, สินค้าไลฟ์สไตล์, แฟชั่น และสินค้าหมวดอื่นๆ ถึงผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นต่อการส่งออกของไทยนั้น ที่ประชุมมีข้อสรุปแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออก 2 แนวทาง คือ ในกรณีที่สินค้าส่งถึงประเทศญี่ปุ่นแล้ว แต่ยังไม่สามารถส่งต่อไปยังลูกค้าได้ และไม่สามารถเก็บสต็อกได้ เพราะมีการตัดไฟฟ้า ภาคเอกชนเจ้าของสินค้ายินดีจะบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากสถานการณ์คลี่คลายจึงจะหารือถึงการส่งสินค้าไปชดเชยส่วนที่บริจาคไป
พร้อมกันนั้น ขอให้กระทรวงพาณิชย์ประสานการให้ความช่วยเหลือไปยังสถานทูตญี่ปุ่นในไทย เพื่อจัดส่งสินค้าที่จำเป็นที่ญี่ปุ่นต้องการ ซึ่งเบื้องต้นมี 5 รายการ คือ อาหารพร้อมรับประทาน, ผ้าห่ม, ไฟฉาย, น้ำดื่ม และถุงนอน ซึ่งการให้ควาช่วยเหลือในส่วนนี้ขอให้ผู้ประกอบการนำสินค้าที่มีฉลากภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาอังกฤษเท่านั้น เพื่อให้ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นสามารถใช้ในการอุปโภค-บริโภคได้
"จากการประเมินสถานการณ์เบื้องต้น การส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อยในระยะสั้น เพราะระบบการขนส่งชะงักชั่วคราว แต่คงไม่กระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้ เพราะภาคเอกชน และสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองฮิโรชิมา แจ้งว่าพื้นที่ส่วนอื่นนอกเหนือจาก 4 จังหวัดที่ประสบเหตุ ยังเป็นปกติ คาดว่าหลังสถานการณ์สงบ ระบบโลจิสติกจะกลับมาให้บริการได้ปกติ ก็จะมีการนำเข้าสินค้าอุปโภค-บริโภคเพิ่มขึ้น" นางนันทวัลย์ กล่าว
ทั้งนี้ กรมฯ จะติดตามประเมินสถานการณ์ในส่วนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นต่อไปอย่างใกล้ชิด ว่าจะมีการความรุนแรงหรือไม่ เพียงใด หากมีการระเบิดเพิ่มขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้นอาจต้องปรับแผนการส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่นใหม่ และล่าสุดเจ้าหน้าที่สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว ขอเดินทางกลับกรุงเทพฯ เพราะหวั่นเกรงผลกระทบจากการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี