FED มีมติคงดอกเบี้ย 0-0.25% พร้อมเดินหน้ามาตรการ QE2 จนถึงกลางปีนี้

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 16, 2011 06:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed funds rate) ที่ระดับ 0-0.25 % ในการประชุมเมื่อวานนี้ (15 มี.ค.) พร้อมระบุว่า เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ เฟดยืนยันว่าจะเดินหน้าโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลวงเงิน 6 แสนล้านดอลลาร์ต่อไปจนสิ้นสุดโครงการในเดือนมิ.ย.ปี 2554 เพื่อเป้าหมายที่จะกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงาน

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมว่า เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่เฟดได้รับตั้งแต่การประชุมเมื่อเดือนม.ค.พบว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐเริ่มฟื้นตัวขึ้น ขณะที่ตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนทางธุรกิจในด้านอุปกรณ์และซอฟท์แวร์ยังคงมีการขยายตัว อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่นับรวมที่อยู่อาศัย ยังคงอ่อนแอ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาวะซบเซาในตลาดอสังหาริมทรัพย์

ส่วนในด้านเงินเฟ้อนั้น เฟดได้แสดงความเห็นว่า ปัจจุบัน ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆ มีแนวโน้มที่จะทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งแม้มีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะสั้นๆ แต่เฟดก็จะจับตาดูความเคลื่อนไหวของเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ เฟดยืนยันว่าจะเดินหน้าโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลในวงเงิน 6 แสนล้านดอลลาร์ หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบสอง (QE2) ต่อไปจนสิ้นสุดโครงการในเดือนมิ.ย.ปี 2554 ตามแผนการที่วางไว้ โดยเฟดจะทบทวนจังหวะเวลาในการเข้าซื้อพันธบัตรและขนาดของโครงการซื้อพันธบัตรเป็นระยะๆ โดยจะพิจารณาบนพื้นฐานของข้อมูลที่ได้รับ และอาจจะมีการปรับเปลี่ยนตามความจำเป็น เพื่อเป้าหมายที่จะหนุนตัวเลขการจ้างงานให้สูงขึ้นและทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคมีเสถียรภาพมากขึ้นด้วย

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดมีมติให้ใช้มาตรการ QE2 ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 พ.ย.ปี 2553 โดยจะทยอยซื้อพันธบัตรในสัดส่วน 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนไปจนถึงกลางปี 2554 ขณะที่เบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดเชื่อมั่นว่า มาตรการ QE2 จะช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและลดภาวะตึงตัวในระบบการเงินได้ และหากเศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับภาวะสภาพคล่องส่วนเกินในวันข้างหน้า เฟดก็มีเครื่องมือที่จำเป็นที่พร้อมจะดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบในเวลาที่เหมาะสม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ