ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดปี 54 การส่งออกไก่แปรรูปไปญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 16, 2011 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในญี่ปุ่นจะเป็นโอกาสของผู้ส่งออกเนื้อไก่ของไทย เนื่องจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ที่สำคัญ ผนวกกับอานิสงส์จากที่ญี่ปุ่นเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในช่วงต้นปี 2554 ส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องกำจัดไก่เนื้อประมาณ 2 แสนตัว ทำให้ญี่ปุ่นต้องเพิ่มการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เพื่อทดแทนในส่วนที่เสียหาย คาดว่าญี่ปุ่นต้องเพิ่มการนำเข้าเนื้อไก่ทั้งในส่วนของเนื้อไก่แปรรูป และเนื้อไก่สดแช่เย็นแข่แข็ง ซึ่งผู้ส่งออกเนื้อไก่แปรรูปของไทยจะได้รับอานิสงส์เฉพาะในส่วนของการที่ญี่ปุ่นเพิ่มการนำเข้าเนื้อไก่แปรรูป

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าความต้องการบริโภคเนื้อไก่ของญี่ปุ่นในปี 2554 ประมาณ 2.01 ล้านตัน ในปริมาณดังกล่าวเป็นการผลิตเอง 1.275 ล้านตัน หรือร้อยละ 63.4 ของปริมาณความต้องการบริโภคเนื้อไก่ทั้งหมด และต้องนำเข้า 7.35 แสนตัน ขณะที่ปริมาณการผลิตไก่เนื้อในประเทศญี่ปุ่นมาจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตไก่เนื้อทั้งหมด หรือประมาณ 0.38 ล้านตัน โดยเป็นการผลิตใน 3 จังหวัดที่ได้รับความเสียหายอย่างมากจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ประมาณร้อยละ 20 ซึ่งถ้าผลผลิตส่วนนี้ได้รับความเสียหายทั้งหมด ทำให้ญี่ปุ่นต้องนำเข้าเนื้อไก่เพิ่มขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศ

การนำเข้าเนื้อไก่ของญี่ปุ่น 7.35 แสนตัน แยกเป็นไก่แปรรูป 3.35 แสนตัน หรือร้อยละ 45.6 ของปริมาณการนำเข้าเนื้อไก่ทั้งหมด และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง 4 แสนตัน ในส่วนของไก่สดแช่แข็ง ญี่ปุ่นยังคงห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยตั้งแต่ปี 2547 เนื่องจากปัญหาไข้หวัดนก โดยแหล่งนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของญี่ปุ่น คือ บราซิล

ส่วนไก่แปรรูปนั้น ไทยมีสัดส่วนไก่แปรรูปประมาณร้อยละ 47.0 ของปริมาณการนำเข้าเนื้อไก่แปรรูปทั้งหมด และแย่งส่วนแบ่งตลาดในญี่ปุ่นและก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของแหล่งนำเข้าไก่แปรรูปในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2551 เนื่องจากจีนเผชิญปัญหาความไม่น่าเชื่อถือในเรื่องสารปนเปื้อนในอาหาร อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าในปี 2553 ญี่ปุ่นเริ่มหันกลับไปนำเข้าไก่แปรรูปจากจีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคานำเข้าไก่แปรรูปจากจีนถูกกว่ามาก ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าไก่แปรรูปจากจีนเบียดเข้ามาใกล้เคียงกับไทย

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีความได้เปรียบในเรื่องความหลากหลายของสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคญี่ปุ่นได้อย่างครบถ้วน รวมทั้งยังมีภาพลักษณ์ที่ดีในเรื่องความปลอดภัยของสินค้า ไม่เคยมีประวัติในเรื่องสารปนเปื้อนและสารตกค้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ