นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดอีก 1-2 ปีเกิดภาวะเศรษฐกิจชะงักงันเงินเฟ้อสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 17, 2011 09:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “นโยบายบริหารจัดการราคาสินค้าของรัฐบาล" โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 14-16 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่า

นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 73.9 ประเมินว่าปัญหาราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในปัจจุบันมีความรุนแรงจัดอยู่ในระดับปานกลาง และนักเศรษฐศาสตร์มากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 53.8) มองว่าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเข้าสู่ภาวะ Stagflation หรือ ภาวะเศรษฐกิจที่ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นพร้อมๆ กับการชะลอตัวของเศรษฐกิจหรือมีการว่างงานเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 46.2ได้ประเมินความสามารถด้านการบริหารจัดการและแก้ปัญหาราคาสินค้าของรัฐบาลอยู่ในระดับแค่พอใช้ ขณะที่ร้อยละ 44.6 มองว่าอยู่ในระดับค่อนข้างแย่ถึงแย่มาก มีเพียงร้อยละ 9.2 เท่านั้นที่มองว่าอยู่ในระดับค่อนข้างดี

เมื่อสอบถามถึงความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาท/ลิตรจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 61.6 มองว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่ไม่ถูกทาง พร้อมทั้งเสนอแนวทางที่เหมาะสมสำหรับใช้ในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป คือ แนวทางที่ 1 ปล่อยให้ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด แนวทางที่ 2 ทยอยลดการอุดหนุนราคาน้ำมันเป็นขั้นๆ จนเท่ากับราคาตลาดในระยะเวลาที่เหมาะสม และแนวทางที่ 3 ปล่อยให้ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดพร้อมกับการอุดหนุนบางส่วนในสัดส่วนที่เหมาะสมกับราคาน้ำมันในตลาดโลก

ส่วนความเห็นเกี่ยวกับการที่นายกฯอภิสิทธิ์ จะนำแนวคิดในการปรับเพิ่มค่าแรงเพื่อสร้างความสมดุลให้ทันกับราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น (ทฤษฏี 2 สูง ของคุณธนินท์ เจียรวนนท์) มาใช้เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 46.2 ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้เกิดการคาดการณ์เงินเฟ้อ และทำให้ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงขึ้น อีกทั้งแรงงานบางส่วนทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นการเพิ่มค่าแรงจะทำให้ผู้ประกอบการลดการจ้างงานกับแรงงานกลุ่มดังกล่าว แล้วหันไปจ้างแรงงานต่างด้าว ดังนั้น หากจะเพิ่มค่าแรงควรเพิ่มเฉพาะแรงงานทำงานมีประสิทธิภาพสูงเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยเพิ่มขึ้น

สำหรับความเห็นเกี่ยวกับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีนโยบายปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อนั้น นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 66.2 เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เป็นการช่วยชะลอการปรับเพิ่มของเงินเฟ้อที่เกิดจากด้านอุปสงค์ ทำให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ รวมถึงทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณให้เอกชนรับทราบ ป้องกันการเกิดเงินเฟ้อในรอบที่สอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ