กระทรวงพาณิชย์จีนระบุในรายงานที่เผยแพร่ในวันนี้ว่า ราคาสินค้าเกษตรในจีนส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 13 มีนาคม แต่โดยรวมแล้วเป็นการขยายตัวในอัตราที่ช้าลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้านี้
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนเดือนก.พ.เพิ่มขึ้น 4.9% จากปีก่อนหน้านี้ เพราะได้รับปัจจัยหนุนจากราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งมีสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของการคำนวณ CPI
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนตั้งเป้าควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้เคลื่อนไหวที่ประมาณ 4% ในปีนี้
-- สัญญาซื้อขายฝ้ายล่วงหน้าที่ตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์เจิ้งโจวปรับตัวลดลง 5.8% ใน 2 วันแรกของสัปดาห์นี้ ท่ามกลางสถานการณ์ราคาในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงทั่วทั้งกระดานจากผลกระทบของเหตุแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น
นักวิเคราะห์กล่าวว่า อุปทานฝ้ายคุณภาพดียังคงตึงตัวในปีนี้ เนื่องจากจะเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลที่มีการใช้ฝ้ายสูงสุด ทั้งนี้ คาดว่าราคาฝ้ายล่วงหน้าจะดีดตัวขึ้นจากที่อยู่ในระดับปรับฐานในขณะนี้
-- ผลสำรวจความต้องการด้านการเพาะปลูกที่จัดทำโดยกระทรวงเกษตรของจีนระบุว่า พื้นที่ปลูกธัญพืชและฝ้ายในจีนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้ ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกพืชให้น้ำมันและพืชที่ใช้ผลิตน้ำตาลอาจปรับลดตัวลดลงเล็กน้อย
พื้นที่เพาะปลูกธัญพืชจะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในปีนี้หลังจากที่ขยายตัวต่อเนื่องนาน 7 ปี เพราะได้รับปัจจัยหนุนจากนโยบายช่วยเหลือของรัฐบาล ประกอบกับราคาตลาดที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 0.3% จากปีที่แล้ว
ขณะเดียวกัน พื้นที่ปลูกฝ้ายอาจเคลื่อนไหวสวนทางกับที่เคลื่อนตัวในช่วงขาลงเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน โดยคาดว่าพื้นที่ปลูกฝ้ายจะไต่ระดับขึ้น 5.4% ในปีนี้
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรคาดว่าพื้นที่ปลูกพืชให้น้ำมันและน้ำตาลอาจลดลง 0.6% และ 0.3% ตามลำดับ
-- ในวันที่ 14 มีนาคม โรงงานผลิตน้ำตาล 16 แห่งในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศได้หยุดการหีบอ้อย ซึ่งมีสัดส่วน 16.2% ของกำลังการผลิตน้ำตาลทั้งหมดในภูมิภาค
โดยบริษัทแปรรูปน้ำตาลส่วนใหญ่ในมณฑลกว่างซีคาดว่าจะเสร็จสิ้นการหีบอ้อยในสิ้นเดือนมี.ค. และผลผลิตน้ำตาลในฤดูหีบอ้อยจะหมดลง
ทั้งนี้ มณฑลกว่างซีผลิตน้ำตาล 7.1 ล้านตันในฤดูเพาะปลูกประจำปี 2552/2553 ซึ่งมีสัดส่วนราว 66% ของผลผลิตทั้งหมดในประเทศ