นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้คงยังไม่ถึงขั้นที่จะตัดสินใจว่าจะสร้างหรือไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นเกิดเหตุระเบิดจากผลกระทบแผ่นดินไหว เนื่องจากขั้นตอนของประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการศึกษา และยังจะต้องเดินหน้าศึกษาต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์ในญี่ปุ่น ก็จะทำให้มีตัวอย่างและกรณีศึกษาถึงการออกแบบมาตรการควบคุมและป้องกันให้ความมีความเข้มงวดมากขึ้น แต่ในที่สุดจะยกเลิกโครงการไปหรือไม่ ไม่ใช่ปัญหา เพราะแม้จะมีความจำเป็นต้องยกเลิกจริงก็จะมีโครงการที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่นมาทดแทน ทั้งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน หรือพลังงานทดแทน
ส่วนจะเสนอให้ ครม.ชุดนี้ตัดสินใจได้หรือไม่ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่รู้ว่า ครม.ชุดนี้จะอยู่บริหารประเทศไปถึงเมื่อไร
นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน คาดว่า การส่งรายงานความพร้อมการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจต้องล่าช้าออกไปจากดิมที่คาดว่าจะส่งกลับมาภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ เนื่องจากทางสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) อยู่ระหว่างการเข้าไปช่วยเหลือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่น
แต่จากการหารือเบื้องต้นทาง IAEA แจ้งว่า ไทยยังไม่มีความพร้อมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยยังต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมใน 3 ประเด็น คือ 1.เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องและการกำกับดูแลที่เป็นอิสระ 2.ข้อผูกพันระหว่างประเทศที่ต้องมีการเซ็นสัญญาร่วมกัน 3.การยอมรับของประชาชน