Analysis: นักวิเคราะห์คาดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกไม่ถูกกระทบจากวิกฤตนิวเคลียร์ญี่ปุ่น

ข่าวต่างประเทศ Friday March 18, 2011 09:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แม้ญี่ปุ่นกำลังผชิญปัญหาอย่างหนักจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิที่ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

นั่นเป็นเพราะญี่ปุ่นไม่ใช่แรงขับเคลื่อนสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆในเอเชียอย่างจีนและอินเดีย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้ทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่า วิกฤตการณ์ในญี่ปุ่นจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ เอเชีย และประเทศอื่นๆทั่วโลก

เจมส์ เอฟ.สมิธ หัวหน้านักวิเคราะห์จากบริษัท พาร์เซค ไฟแนนเชียล กล่าวว่า "คงจะต้องเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงแบบที่เกิดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วสัก 2 ครั้ง และจะต้องเกิดขึ้นที่อ่าวโตเกียว จึงจะสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจโลกได้"

อย่างไรก็ตาม เบอร์นาร์ด บาวโมห์ล หัวหน้านักวิเคราะหจาก Economic Outlook Group กล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นในครั้งนี้จะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลงราว 0.2% และอาจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกลดลงราว 1% ในปีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม บาวโมห์ลเชื่อว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะยังคงดำเนินต่อไปได้

บาวโมห์ลยังกล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่และผู้นำในภาคธุรกิจของญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับต้นทุนการบูรณะก่อสร้างที่อาจสูงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นสองเท่าของต้นทุนการฟื้นฟูประเทศที่ใช้หลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมืองโกเบเมื่อปี 2523

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังต้องอัดฉีดเงินทุนในการซ่อมแซมทุกภาคส่วนที่ได้รับความเสียหายในช่วงเวลาเดียวกับที่หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศอื่นๆในกลุ่มอุตสาหกรรม โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นจะสูงถึง 228% ของจีดีพีในปี 2554 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้เกิดความกังวลเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อญี่ปุ่นเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

"เป็นความจริงที่ว่านักลงทุนญี่ปุ่นถือครองตราสารหนี้ของรัฐบาลมากกว่า 90% แต่ถ้าหากนักลงทุนต่างชาติเริ่มเทขายตราสารหนี้ที่ถือครองอยู่ ผู้ถือตราสารหนี้ในกลุ่มสถาบันของญี่ปุ่นจะแห่ขายตาม" เขากล่าว

ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า วิกฤตการณ์ในญี่ปุ่นจะส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนในเอเชีย โดยแบร์รี่ บอสเวิร์ธ นักวิเคราะห์จาก Brookings Institution กล่าวว่า ภาวะติดขัดเช่นนี้อาจจะส่งผลให้การขยายตัวในบางประเทศหดตัวลง 0.5% เป็นเวลาประมาณ 2 เดือน แต่ก็คาดว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก และคาดว่าผลกระทบส่วนใหญ่จะตีกรอบอยู่แค่ในประเทศญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่า ในระยะกลางนั้น คาดว่าญี่ปุ่นจะต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างเพื่อบูรณะประเทศประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งการใช้วงเงินสูงเช่นนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นบ้าง

บทวิเคราะห์โดย แมทธิว รัสลิง จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ