ก.อุตฯคาด Q1/54 ภาพรวมอุตฯเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โต 4%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 18, 2011 12:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงอุตสาหกรรม คาดว่า ภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 1/54 จะเติบโตประมาณ ร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเติบโตประมาณร้อยละ 11 เนื่องจากตลาดส่งออกญี่ปุ่นมีคำสั่งซื้อที่เริ่มมีกลับเข้ามา ซึ่งสัดส่วนการส่งออกไปยังญี่ปุ่นในเดือนแรกของปี 54 เพิ่มเป็น 16% จากเดิมรั้งอันดับรองจากอียูและสหรัฐอเมริกา ตลาดอียูได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินในหลายประเทศในยุโรปที่เกิดความไม่มั่นใจในการจับจ่ายใช้สอย

เครื่องปรับอากาศที่เป็นสินค้าสำคัญที่เป็นตัวเร่งการส่งออกกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เพิ่มสูงขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา แต่ในเดือนแรกของปีนี้กลับปรับตัวลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการได้รับอานิสงค์จากการเปิดตลาดใหม่ๆค่อนข้างมากทำให้มีการผลิตตามคำสั่งซื้อของตลาดส่งออกอื่นๆ จึงทำให้การผลิตเพื่อการส่งออกไม่ปรับลดลงมากนักและมีผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกเครื่องปรับอากาศไม่มากนัก

ตลาดส่งออกที่เข้ามาทดแทน ได้แก่ ตลาดญี่ปุ่น อินเดีย และไต้หวัน เป็นต้น รวมสัดส่วนการส่งออกของทั้ง 3 ตลาดประมาณ 14% และส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเครื่องปรับอากาศโดยรวมทุกตลาดแล้ว ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 7

ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าปรับตัวลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดส่งออกสำคัญลดลงเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดจีนที่เป็นสัดส่วนตลาดหลักในการส่งออกหดตัวถึง 24% อันเป็นผลจากการหดตัวของส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น HDD คาดว่าจะปรับตัวลดลง 1% หลังมีคำสั่งซื้อและเร่งผลิตในช่วงก่อนหน้าค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจุบันยังคงมีสินค้าคงค้างกับผู้กระจายสินค้ารายใหญ่จำนวนหนึ่ง ขณะที่บางตลาดส่งออกได้ดี ได้แก่ ตลาดฮ่องกง และไต้หวัน อันเป็นศูนย์กระจายสินค้าไอทีที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย โดยรวม วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี ยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และปรับตัวสูงขึ้นในเดือนมกราคมนี้ 6% ตลาดอาเซียนยังคงเป็นตลาดหลักสำหรับสินค้านี้ปัจจัยที่มีความสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

สำหรับการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจัยการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น และต้นทุนทางด้านการเงิน เช่น อัตราดอกเบี้ย ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน และผลจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อภายในประเทศ นอกจากนี้ ราคาขายของสินค้าก็อาจมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกจากผลกระทบสืบเนื่องจากที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงความต้องการสินค้าอาจจะลดลงบ้างจากการที่จะระบายสินค้าเดิมที่เคยสั่งซื้อสะสมไว้ในช่วงก่อนหน้าที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ