กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ องค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม(NEDO)ประเทศญี่ปุ่น ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการต้นแบบเตาหลอมประสิทธิภาพสูงที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมผลิตเหล็กของประเทศไทย ประเดิมที่แรก บริษัท ยู เอ็ม ซี เม็ททอล จำกัด คาดว่าจะสามารถลดการใช้พลังงานร้อยละ 29 ลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 28
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามในครั้งนี้เป็นความพยายามที่จะพัฒนาและเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านพลังงานและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น บนพื้นฐานของการมีประโยชน์ร่วมกันที่ไม่จำกัดเฉพาะในสองประเทศเท่านั้น หากหมายรวมถึงประโยชน์เพื่อความยั่งยืนในระดับภูมิภาคร่วมด้วย
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงได้ร่วมมือกับ NEDO ดำเนินโครงการต้นแบบเตาหลอมประสิทธิภาพสูงที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือ Model Project for an Environmentally Conscious High-Efficiency Arc Furnace ในอุตสาหกรรมผลิตเหล็กในประเทศไทย ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีการนำความร้อนเหลือทิ้ง จากการหลอมมาใช้ประโยชน์ในการอุ่นวัตถุดิบ
นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยีป้องกันการปล่อยมลพิษทางอากาศ อาทิ สารไดออกซินโดยการใช้ระบบ Post Combustion และ Spray Cooling ที่คิดค้นโดยบริษัท JP Steel Plantech จำกัด ประเทศญี่ปุ่น มาปรับใช้ในกระบวนการผลิตเหล็ก โดยได้คัดเลือกบริษัท UMC Metals จำกัด จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีความเหมาะสมที่จะเป็นสถานที่ตั้งโครงการ ฯ รวมทั้งได้รับการตอบรับอย่างดีจากบริษัทฯ ทำให้สามารถติดตั้งเทคโนโลยีและสาธิตอุปกรณ์ในโรงงานได้
ทั้งนี้ จะทำการติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์และดำเนินการศึกษาวิจัยเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน ที่บริษัท UMC Metals จำกัด และคาดว่าจะสามารถลดการใช้พลังงานได้ร้อยละ 29 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง ร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับปัจจุบัน อีกทั้งยังมีโอกาสขยายผลไปสู่โรงงานลักษณะเดียวกันไม่น้อยกว่า 6 แห่ง
โครงการดังกล่าวจะใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นกว่า 980 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณจาก NEDO 700 ล้านบาท และบริษัท UMC Metals จำกัด อีกประมาณ 280 ล้านบาท
นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ผลการสำรวจสถานการณ์เหล็กในช่วงเดือนมกราคม — ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา ประเทศมีอัตราการใช้เหล็กรวมเป็นจำนวนกว่า 14 ล้านตัน ซึ่งเป็นการผลิตเหล็กในประเทศ จำนวน 7.5 ล้านตัน แบ่งเป็นเหล็กทรงยาว (Long product) 3.7 ล้านตัน ทรงแบน (Flat Product) 3.8 ล้านตัน และมีการนำเข้าเหล็ก จำนวน 8 ล้านตัน เป็นเหล็กทรงยาว (Long product) 1.7 ล้านตัน ทรงแบน (Flat Product) 6.3 ล้านตัน โดยมีปริมาณการส่งออกเหล็กของประเทศ จำนวน 1.56 ล้านตัน มีการนำเข้าเศษเหล็ก 1.3 ล้านตัน มีการส่งออกเศษเหล็กประมาณ 0.54 ล้านตัน
ประกอบกับแนวโน้มการใช้เหล็กของภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการส่งออกสูงขึ้น ทำให้อัตราการใช้เหล็กยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง