นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนก.พ.54 ว่า การส่งออกเดือน ก.พ.54 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 31% คิดเป็นมูลค่า 18,868 ล้านดอลลาร์ ถือว่าเป็นยอดการส่งออกที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้น 22.5% คิดเป็นมูลค่า 17,100 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ในเดือนก.พ.นี้ ไทยเกินดุลการค้า 1,767 ล้านดอลลาร์
ขณะที่การส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.พ.54) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.7% คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 35,615 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้น 27.7% คิดเป็นมูลค่ารวม 34,407 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรก ไทยเกินดุลการค้า 910.8 ล้านดอลลาร์
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ก.พ.มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยสินค้าหมวดเกษตร-อุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 32.8% โดยสินค้าที่ส่งออกได้มาก เช่น ข้าว, ยางพารา, มันสำปะหลัง, อาหารทะเลแช่แข็ง, ไก่แช่แข็งและไก่แปรรูป เป็นต้น สินค้าหมวดอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 29.9% โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวสูง เช่น ผลิตภัณฑ์พลาสติก, ผลิตภัณฑ์ยาง, สิ่งทอ, เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้าหมวดอื่นๆ เพิ่มขึ้น 33.5%
ขณะที่ตลาดส่งออกนั้น พบว่าการส่งออกสินค้าไทยขยายตัวในทุกตลาด โดยการส่งออกไปตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ขยายตัว 27% ส่วนตลาดที่มีศักยภาพสูง ขยายตัว 30.5% ตลาดที่มีศักยภาพรอง ขยายตัว 19.3%
ปัจจัยที่ส่งผลให้การส่งออกขยายตัว ได้แก่ ความต้องการในตลาดโลกที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามทิศทางและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าของตลาดส่งออกที่สำคัญ โดยเฉพาะตลาดหลัก และประเทศในแถบเอเชีย คือ จีน อินเดีย เอเชียตะวันออก และอาเซียน รวมทั้งสินค้าเกษตรและอาหารที่มีการปรับราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนสถานการณ์การประท้วงรุนแรงในกลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลางนั้น รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในภาพรวมของไทย เนื่องจากการส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศในตะวันออกกลางมีสัดส่วนเพียง 5% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวม ซึ่งหากจะมีผลกระทบก็เชื่อว่าจะไม่เกิน 1% เท่านั้น
ขณะที่สถานการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่น อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในช่วงระยะสั้น ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องการขนส่งสินค้า และการขนส่งที่ติดค้าง โดยกระทรวงพาณิชย์จะขอความร่วมมือไปยังกระทรวงการคลังในการพิจารณาขยายเวลาการทำ Packing Credit ให้แก่ผู้ส่งออกไทยจาก 4 เดือนไปเป็น 6 เดือน
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าภายหลังสถานการณ์ภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นคลี่คลายแล้ว น่าจะมีผลทำให้ญี่ปุ่นเพิ่มปริมาณการสั่งนำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหาร และน่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่นในภาพรวมปีนี้เพิ่มขึ้น 10-20% คิดเป็นมูลค่าราว 24,000 ล้านดอลลาร์ จากปีก่อนที่มีมูลค่า 20,400 ล้านดอลลาร์
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะมีผลต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ คือ ปัญหาราคาน้ำมันแพง, ปัญหาการเมืองในประเทศ ส่วนกรณีเงินบาทแข็งค่านั้นมีผลต่อการส่งออกของไทยอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ยังคงวางเป้าหมายการส่งออกทั้งปีนี้ไว้ 10% ที่มูลค่า 215,000 ล้านดอลลาร์