สรรพสามิตเล็งชงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ทั้งระบบให้ รมว.คลัง 21 มี.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday March 20, 2011 13:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อธิบดีกรมสรรพสามิต เผยขณะนี้ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ทั้งระบบเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยเตรียมส่งให้นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง พิจารณาในวันจันทร์(21 มี.ค.)นี้ ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป

"วันจันทร์จะเสนอให้รัฐมนตรีคลังพิจารณาเพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป" นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าว

อธิบดีกรรมสรรพสามิต กล่าวว่า เรื่องภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั้นได้ข้อยุติหลังพิจารณาร่วมกับข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าจะใช้บังคับอีก 3 ปีข้างหน้า โดยจะปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จากเดิมที่ดูจากจำนวนกระบอกสูบที่มีความสลับซับซ้อนถึง 45 อัตรา มาเป็นเรื่องประสิทธิภาพในการควบคุมการปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์

"โครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่จะดูเรื่องการปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ ใครปล่อยน้อยกว่าก็เสียภาษีน้อยกว่า" นายพงษ์ภาณุ กล่าว

ส่วนเรื่องภาษีด้านอบายมุขนั้น ในส่วนของบุหรี่จะนำเรื่องราคาขายปลีกมาเป็นเกณฑ์คำนวณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเช่นกัน จากเดิมที่คำนวณจากราคา C.I.F. ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่กรมสรรพสามิตตระหนักมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมาดูตอนที่ฝ่ายค้านนำไปอภิปรายฯ แต่เมื่อมีการพูดกันมากก็เชื่อว่าจะเป็นแรงขับให้เกิดความเร่งด่วนมากขึ้น

ส่วนการคำนวณภาษีบุหรี่ตามกฎหมายเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2509 ที่กำหนดให้คำนวณจากราคา C.I.F. ที่เห็นข้อตกลงขององค์การการค้าโลก(WTO) ที่ไทยแพ้คดีมาแล้ว เพราะเราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปคำนวณตามใจชอบ โดยในส่วนนี้จะต้องเสนอแก้กฎหมาย 2 ฉบับ คือ ฉบับแรกออกเป็น พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก.ที่กำหนดให้คำนวณภาษีจากราคาขายปลีกแทนราคา C.I.F. และอีกฉบับเป็นร่างกฎกระทรวงที่กำหนดให้จัดเก็บภาษีตามปริมาณ โดยจะระบุชัดเจนว่าจะเก็บซองละเท่าไหร่

"หลังเปิดเสรีทางการค้ามีบุหรี่ราคาถูกทะลักเข้ามามาก บางรายแจ้งราคา C.I.F.แค่ซองละ 1.60 บาท คิดภาษีแล้ว 5.7 เท่า ราคาก็ถูกอยู่ดี" นายพงษ์ภาณุ กล่าว พร้อมระบุว่า หลังปรับปรุงโครงสร้างภาษีบุหรี่แล้วรายได้ของรัฐจะไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแค่เป็นการแก้ไขให้เกิดความเท่าเทียมกัน ซึ่งอาจทำให้ราคาขายปลีกของบุหรี่แต่ละรายอาจต้องปรับขึ้นหรือลดลงก็ได้

ส่วนภาษีสุรานั้นแยกเป็น 3 ส่วน คือ สุราขาวที่เป็นระดับรากหญ้าจะมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพสุราชุมชนที่มีอยู่กว่า 4,000 ราย ส่วนเบียร์จะคิดภาษีตามดีกรี แต่ให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการผลิตว่าจะเสียภาษีตามหลักปริมาณและหลักราคาประกอบกัน หากอย่างใดสูงกว่าก็ให้เสียภาษีตามนั้น และไวน์มีปัญหาการลักลอบนำเข้าจำนวนมาก โดยจะปรับวิธีคำนวณภาษีให้เหมาะสมเพื่อจูงใจให้ผู้นำเข้ายอมเข้าระบบมากขึ้น

นอกจากนี้จะมีการปรับค่าใบอนุญาตขายสุราประเภทต่างๆ ที่ใช้มานานกว่า 30 ปีให้เหมาะสม เพื่อควบคุมจำนวนผู้ค้าปลีกที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 4-5 แสนรายทั่วประเทศ

อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวอีกว่า จะมีการยกเลิกภาษีสินค้าบางรายการที่เห็นว่าไม่คุ้มค่าต่อการดำเนินงาน และลดภาระเนื่องจากรายได้จากสินค้าแต่ละปีมีไม่มากนัก แต่หากมีการยกเลิกแล้วจะมีส่วนช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการและส่งเสริมการส่งออก โดยจะนำร่องสินค้า 3 รายการ ได้แก่ แอร์รถ, แก้วคริสตัล และพรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ