นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายหลังรายงานผลกระทบทางเศรษฐกิจของไทยจากเหตุภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.)ในวันนี้ว่า ในระยะสั้นภาคการส่งออกของไทยคงจะได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งอาจจะเป็น Sector ที่อาศัยอะไหล่ชิ้นส่วน หรือในส่วนที่ต้องมีการค้าขายกับโรงงานที่ญี่ปุ่นโดยตรง แต่ในส่วนของการลงทุนขณะนี้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
ส่วนระยะยาวก็ต้องรอดูต่อไป เพราะขณะนี้สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ยังมีปัจจัยในเรื่องของกัมมันตภาพรังสีที่ประเมินสถานการณ์ไม่ได้ และมีผลกระทบอยู่
"การประเมินผลกระทบทั้งหมด คิดว่าเร็วเกินไป เพราะข้อมูลหลายส่วนยังไม่นิ่ง ยังมีปัจจัยอื่นเข้ามา เช่นในเรื่องการแพร่กระจายของกัมมันตรังสี" ผู้ว่าการ ปท. กล่าว
สำหรับการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ไม่น่าจะเกิดจากผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นไปตามปัจจัยพื้นฐาน โดยเป็นไปตามเสถียรภาพการเติบโตของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศ G-3 มากกว่า เรื่องญี่ปุ่นไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก
ส่วนจังหวะที่ค่าเงินเยนแข็งค่า เป็นลักษณะของการเก็งกำไรมากกว่า
"ลักษณะของ Capital Flow ยังปกติ" ผู้ว่าธปท. กล่าว
อย่างไรก็ตาม ธปท.จะติดตามการอัดฉีดเงินเข้าระบบของรัฐบาลญี่ปุ่นว่าจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทหรือไม่อย่างไร
"ก็ต้องติดตามช่วงนี้มีเหตุจำเป็นเพราะว่าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ธนาคารกลางก็ต้องติดตามดูแลสถานการณ์ เดิมมีการคาดการณ์ว่าบริษัทประกันภัยญี่ปุ่นคงต้องขายพันธบัตรต่างประเทศเพื่อนำเงินมาชดเชยความเสียหาย แต่ข้อมูลล่าสุด บริษัทประกันภัยมีพันธบัตรในรูปเงินเยนเพียงพอ ประกอบกับบริษัทประกันภัยหลายบริษัทมีข้อตกลงกับรัฐบาลญี่ปุ่นว่า ถ้าหากมีความเสียหายเกินขีดจำกัด เขาก็มีระบบ re-insurance จึงทำให้แรงกดดันของบริษัทประกันที่จะขายพันธบัตรต่างประเทศเพื่อเอาเงินกลับเข้ามา จึงน้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้"
ประกอบกับ กลุ่มประเทศ G-7 ได้มีการร่วมมือกันทำให้แรงกดดันที่เงินเยนแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลารมีไม่สูงอย่างที่คาดไว้
พร้อมกันนี้ ยืนยันว่าสถาบันการเงินของไทยที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งสถาบันการเงินญี่ปุ่นในไทยก็ไม่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่ ธปท.พร้อมดูแลและให้ความยืดหยุ่นหากมีความจำเป็น