นายธราดล เปี่ยมพงษ์สานต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ(กรอ.) ได้รับทราบการประเมินผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติในญี่ปุ่นต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งพบว่าในภาพรวมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากนัก เป็นแค่สถานการณ์ช่วงสั้นๆ เท่านั้น
โดยอุตสาหกรรมที่อาจจะได้รับผลกระทบ คือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนชิ้นส่วน-อะไหล่จากญี่ปุ่น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสต็อกการผลิตประมาณ 1 เดือน โดยในส่วนของอุตสาหกรรมรถยนต์นั้น อาจทำให้กำลังผลิตรถยนต์ลดลงสัปดาห์ละ 5,000 คัน
ทั้งนี้ กรอ.ได้แสดงความเป็นห่วงการส่งออกสินค้ายางพารา ซึ่งเป็นผลพวงจากอุตสาหกรรมรถยนต์ที่อาจจะได้รับผลกระทบ และการส่งออกกล้วยไม้ที่ต้องย้ายจากสนามบินนาริตะไปลงที่อื่น
ส่วนภาคการท่องเที่ยวคาดว่าได้รับผลกระทบในระยะ 3-6 เดือน ทำให้นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่จะเดินทางมาไทยลดลง 1.8 แสนคน จากปกติที่มีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางเข้าไทยปีละ 1 ล้านคน หรือคิดเป็นลดลง 16%
นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้เฝ้าระวังปัญหาการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีใน 3 ด้าน คือ จากทางอากาศ, จากทางอาหาร และจากคน โดยทางอากาศ ได้มอบหมายให้กรมอุตุนิยมวิทยาจัดตั้งเครื่องตรวจสภาพอากาศ 8 จุดทั่วประเทศ ส่วนทางอาหาร ได้มอบหมายให้องค์การอาหารและยา(อย.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) เข้าไปสุ่มตรวจสินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากญี่ปุ่น ส่วนการปนเปื้อนจากคน รวมทั้งระบบปรับอากาศบนเครื่องบินนั้น จะให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย(ทอท.) ไปดูแลร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นายธราดล ยังกล่าวถึงปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นว่า ขณะนี้สถานการณ์ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้จับตาดูอย่างใกล้ชิด
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ได้รายงานต่อที่ประชุม กรอ.ว่าเหตุการณ์สึนามิในญี่ปุ่นอาจมีผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปีนี้ 0.1% แต่ทั้งนี้ที่ประชุมฯ เห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะสั้นและไม่น่าจะมีผลกระทบต่อ GDP โดยเชื่อว่าจะมีสถานการณ์อื่นเข้ามาช่วยชดเชยผลกระทบในจุดนี้ได้ แต่อย่างไรก็ดี ยังคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับตาเหตุการณ์ในญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด