ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดดัชนีราคาข้าว Q2/54 ชะลอตัว แต่จะดีขึ้นในช่วง Q3

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 21, 2011 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ดัชนีราคาเกษตรกรขายได้ในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ในระดับ 177.51 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากเดือนก่อนหน้า(MoM) ดัชนีราคาขายส่งหน้าโรงสี และดัชนีราคาส่งออกเฉลี่ยข้าวทุกประเภทของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 และร้อยละ 0.97 ตามลำดับ เนื่องจากโรงสีและผู้ส่งออกรับซื้อข้าวเพื่อเตรียมส่งออกให้กับอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของเดือนกุมภาพันธ์ราคาเริ่มชะลอตัว เนื่องจากไม่มีคำสั่งซื้อล็อตใหญ่เข้ามา โดยประเทศผู้ซื้อข้าวชะลอดูทิศของราคา จากการที่ผลผลิตข้าวของเวียดนามทยอยออกสู่ตลาด

ดัชนีราคาส่งออกข้าวของเวียดนามในเดือนกุมภาพันธ์ปรับลดลงร้อยละ 0.6 เนื่องจากการลดค่าเงินด่อง ส่งผลให้ราคาข้าวของเวียดนามมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ดัชนีราคาส่งออกข้าวของไทยปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 แต่ก็คาดการณ์ว่าในช่วงเดือนมีนาคมดัชนีราคาส่งออกข้าวของเวียดนามยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากผลผลิตข้าว(ฤดูการผลิตหลัก)ทยอยออกสู่ตลาด และรัฐบาลเวียดนามประกาศลดราคาส่งออกข้าวขั้นต่ำครั้งแรกในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 และในวันที่ 9 มีนาคม 2554 ก็มีการปรับลดลงอีก ทำให้ราคาส่งออกเอฟโอบีข้าว5% อยู่ในระดับ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน และราคาข้าว25%อยู่ในระดับ 440 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งน่าจะเป็นแรงจูงใจให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวหันไปซื้อข้าวจากเวียดนามมากขึ้น รวมทั้งประเทศผู้นำเข้าข้าวคลายกังวลจากปัญหาที่เคยคาดว่าจะเกิดการขาดแคลนข้าว ทำให้ไม่ต้องเร่งซื้อเพื่อเก็บเข้าสต็อก จึงชะลอดูทิศทางของราคา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกดดันราคาข้าวส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสสองปี 2554

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าราคาข้าวมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2/54 เนื่องจากผลผลิตข้าวของเวียดนามและไทยทยอยออกสู่ตลาด ซึ่งการคาดการณ์ปริมาณข้าวที่อยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศผู้ซื้อข้าวคลายกังวลปัญหาขาดแคลนข้าว และไม่เร่งซื้อข้าวเก็บเข้าสต็อก โดยชะลอการซื้อเพื่อรอดูทิศทางราคา ในขณะที่เวียดนามเริ่มทยอยปรับลดราคาส่งออกข้าวขั้นต่ำ เพื่อดึงดูดประเทศนำเข้าข้าวให้หันไปซื้อข้าวเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาข้าวอาจจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 3/54 เนื่องจากยังมีปัจจัยบวกจากความต้องการธัญพืชของตลาดโลก ทำให้ราคาธัญพืชสำคัญ โดยเฉพาะข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง รวมถึงราคาน้ำตาล และพืชน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวนสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตทางการเกษตร สร้างความวิตกเกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านอาหาร และภาวะเงินเฟ้อที่มาจากราคาอาหารที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยนี้จะส่งผลทำให้ราคาข้าวมีแนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ