กรมการข้าวเตือนเฝ้าระวังโรคเมล็ดด่างในข้าวระยะใกล้ออกดอก-อากาศชื้นจัด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 21, 2011 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ในขณะนี้สภาพอากาศทุกภาคมีความกดอากาศสูง กำลังค่อนข้างแรงปกคลุมประเทศไทย ทำให้อากาศเย็นลงและมีฝนฟ้าคะนองกระจาย สภาพอากาศเช่นนี้จะมีผลทำให้ข้าวที่อยู่ในระยะตั้งท้องใกล้ออกดอก มีความเสี่ยงสูงต่อโรคเมล็ดด่างและข้าวอาจจะชะงักการเจริญเติบโตได้ เกษตรกรควรควบคุมด้วยสารป้องกันกำจัดโรคเมล็ดด่างตามคำแนะนาของกรมการข้าว

โรคเมล็ดด่างของข้าวมักเกิดกับข้าวระยะใกล้ออกดอกและอากาศชื้นจัด ท้องฟ้าครื้มติดต่อกัน โดยมีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา เมื่อข้าวออกดอกและอากาศชื้น เชื้อราจะเข้าทำลายและพัฒนาทำให้เกิดอาการเมล็ดด่างและเมล็ดลีบในช่วงใกล้เก็บเกี่ยว ทำให้ลดลงทั้งผลผลิตและคุณภาพ

ดังนั้น หากอากาศมีความชื้นจัด หรือฝนตก รวมทั้งอุณหภูมิที่ต่ำ ในระยะข้าวใกล้ออกดอก จึงควรป้องกันโดยการใช้สารกำจัดเชื้อราพ่นป้องกัน เช่น โปรพิโคนาโซล+ไดฟีโนโคนาโซล หรือ โปรฟิโคนาโซล+โปคลอลาส หรือ คาร์เบนดาซิม-อีพ็อกซี่โคนาโซล หรือ ฟลูซิลาโซล หรือ ทีบูโคนาโซล ตามอัตราที่ระบุ

สำหรับอาการของต้นข้าวที่ได้รับผลกระทบจากอากาศเย็นประมาณ 15-20 องศาเซลเซียสนั้น หากเกิดขึ้นกับข้าวที่อยู่ในระยะกล้า จะทำให้ต้นข้าวชะงักการเจริญเติบโต แคระแกรน ใบเหลือง และข้าวในระยะออกดอก ช่อดอกอาจโผล่ไม่พ้นใบธง ในกรณีที่อุณหภูมิลดต่ำลงมาก(ต่ำกว่า 22 องศาเซลเซียส)ในระยะผสมเกสร จะทำให้การผสมไม่ติดและเกิดเป็นเมล็ดลีบ แต่เกษตรกรไม่ควรตื่นตระหนกต่อสภาพอากาศหนาวเย็นในขณะนี้ ไม่ควรใส่ปุ๋ยหรือสารเคมีกำจัดศัตรูข้าวแต่อย่างใด ขอให้ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด หรือเฝ้าติดตามสภาพอากาศด้วยตนเอง ประมาณ 2 — 3 วัน หากอากาศเริ่มอุ่นขึ้น ต้นข้าวก็จะสามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ แต่หากต้นข้าวยังมีอาการชะงักการเจริญเติบโต เกษตรกรควรรีบปรึกษานักวิชาการของหน่วยงานของกรมการข้าวในพื้นที่ หรือศูนย์บริการชาวนา 50 แห่ง ทั่วประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ