นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ทำการประเมินผลกระทบจากแผ่นดินไหวและสึนามิที่เกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยบางส่วนในระยะสั้น
ทั้งนี้ โดยแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 3 กลุ่มสินค้า ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มอาหาร พบว่าไม่มีผลกระทบ เนื่องจากการส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าว อาทิ เนื้อสุกร ไก่ปรุงแต่ง ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกในปี 2553 คิดเป็น 1,700 ล้านบาท และ 23,000 ล้านบาท ตามลำดับ คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในเร็วๆ นี้ เพราะเป็นสินค้าบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน
ส่วนกลุ่มที่ 2 ได้แก่ สินค้ากลุ่มข้าว มันสำปะหลัง และน้ำตาลดิบ คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักเช่นเดียวกัน เพราะส่วนใหญ่ ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ชาวญี่ปุ่นไม่ได้นำสินค้ากลุ่มนี้ไปบริโภคโดยตรง
และกลุ่มที่ 3 คือ กล้วยไม้ คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบในระยะสั้น เนื่องจากจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็น ซึ่งในปี 2553 มูลค่าการส่งออกกล้วยไม้ไทยไปญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 777 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังมีตลาดในส่วนของสหภาพยุโรป และฮ่องกง รองรับกล้วยไม้อยู่อีกจำนวนหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของสินค้าอื่น ๆ อาทิ ยางพารา อาจชะลอตัวไปบ้างในช่วงนี้ เนื่องจากโรงงานผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นในพื้นที่ทีได้รับผลกระทบยังอยู่ในช่วงทยอยเปิดสายการผลิต แต่คาดว่าจะส่งผลไม่มากนัก และจะเป็นไปในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากปัจจัยที่แท้จริงของราคายางพาราเกิดจากกระแสของ ผู้นำเข้ารายใหญ่ คือ ประเทศจีนมากกว่า โดยเบื้องต้นได้มีมาตรการกระตุ้นตลาดไปแล้วจากประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ 3 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในการที่จะชะลอการส่งออกหากราคาต่ำกว่า 4 เหรียญ/กก. หรือประมาณ 120 บาท ซึ่งได้ผลในระดับหนึ่ง กล่าวคือ ราคายาง ณ 21 มีนาคม 2554 ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 146 บาท/กก. และคาดว่าจะอยู่ที่ 150 บาท/กก. ในวันพรุ่งนี้ (22 มีนาคม 2554)
ส่วนความเป็นห่วงของสังคมเรื่องการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีมาทางอาหารหรือสินค้าต่างๆ นั้น หากพบผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอาหารต้องสงสัย กระทรวงเกษตรฯ จะส่งต่อไปยังกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบต่อไป เนื่องจากเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในเรื่องดังกล่าว