นายกฯ ลงนามร่วม 19 หน่วยงานต้านการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 22, 2011 11:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชกับหน่วยงานนำร่อง 19 หน่วยงานใน 7 กระทรวงว่า ถือเป็นหน่วยงานนำร่องเข้าร่วมโครงการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ และร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง ซึ่งเป็นการประกาศเจตนารมณ์ในการที่จะต่อสู้ป้องกันและปราบปรามกับปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการอย่างเป็นรูปธรรม

ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการจะไม่สามารถแก้ไขได้ ถ้าไม่มีความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ภาคการเมือง ภาคราชการ และภาคเอกชน เนื่องจากรูปแบบการทุจริตคอร์รัปชั่นในปัจจุบัน เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนหรือกระบวนการของการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งอาจจะมีการสมยอม หรือให้สินบน และนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นและการแสวงหาผลประโยชน์นั่นเอง

สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้นทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีความพยายามที่จะผลักดันในหลายด้าน โดยในส่วนรัฐบาลนั้น ในวันแรกที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินนายกรัฐมนตรีได้มีการกำชับในส่วนของการทำงานของฝ่ายการเมือง และได้ยืนยันมาโดยตลอดว่าเมื่อใดที่มีความจำเป็นในการที่จะต้องตรวจสอบเรื่องของโครงการหรือการทุจริตต่าง ๆ โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ เช่น เรื่องของการขนส่ง เรื่องการสื่อสารโทรคมนาคม ฯลฯ ก็ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงได้มีการลงโทษผู้ที่กระทำผิดทั้งในส่วนที่อยู่ในภาคการเมืองหรือในส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

ในส่วนมาตรการอื่น ๆ ก็จะต้องมีการดำเนินการต่อไป อาทิ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับระเบียบของการจัดซื้อจัดจ้าง หรือกระบวนการของการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น การที่ได้มีความพยายามที่จะปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการเร่งรัดให้มีการกระบวนการในการกำหนดราคากลาง หรือราคาที่เป็นต้นทุนมาตรฐาน เพื่อป้องกันไม่ให้การใช้ราคากลางที่สูงเกินความเป็นจริง ซึ่งเป็นที่มาของการทุจริตผ่านกระบวนการของการสมยอม

ขณะเดียวกันยังจะมีการดำเนินการปรับปรุงเรื่องปัญหาการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการ โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง จะต้องมีกระบวนการสรรหา โดยให้มีบุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น และจำกัดการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการที่จะแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง เพื่อมิให้เกิดปัญหาเรื่องของการซื้อขายตำแหน่งหรือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่ในการที่จะทำงานทางด้านนี้ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ