นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)คาดว่าการออกพันธบัตรออมทรัพย์งวดใหม่เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณคงจะต้องเลื่อนยาวไปถึงปลายปีงบประมาณ 54 เนื่องจากขณะนี้เงินคงคลังอยู่ในระดับสูงถึง 1.7 แสนล้านบาท ในขณะที่ช่วงเดือนมี.ค.จะมีเงินรายได้ภาษีเข้ามาเพิ่มเติมอีก
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยังสามารถออกพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อรีไฟแนนซ์วงเงินกู้เดิมในโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งยังมีวงเงินเหลือ 7 หมื่นล้านบาท โดยจะทยอยออกตามความเหมาะสม
สำหรับการออกพันธบัตรอิงอัตราเงินเฟ้อ (Inflation linked bond) คาดว่าจะออกได้ในช่วงปลายเดือน พ.ค.- มิ.ย.54 วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท อายุ 10 ปี โดยจะขายทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังรอ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดนิยามพันธบัตรดังกล่าวให้ชัดเจนเสียก่อน
"กระทรวงการคลังจะมีการออกพันธบัตรเพื่อเป็น Bechmark ซึ่งหากแบงก์ชาติ มองว่าพันธบัตริดังกล่าวเป็น derivatives กระทรวงการคลังก็ไม่สมควรออก ถ้าเป็น redemption ก็ออกได้ ซึ่ง IFRS มองว่าเป็นไม่ใช่ derivatives แต่ตอนนี้รอพิจารณาจากแบงก์ชาติอยู่" นายจักรกฤศฏิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลักการออกพันธบัตรอิงอัตราเงินเฟ้อควรจะทยอยออกต่อเนื่องปีละ 2-4 ครั้ง ส่วนอัตราผลตอบแทนจะอิงกับ core inflation