(เพิ่มเติม) ไอซีทีเสนอเปิดสัมปทานเอกชนส่งดาวเทียมวงโคจร 50.5 องศาตะวันออก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 22, 2011 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบข้อเสนอของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เกี่ยวกับแนวทางการรักษาวงโคจรดาวเทียมของประเทศไทยใน 2 วงโคจร คือ ตำแหน่งวงโคจรที่ 120 องศาตะวันออก ที่เกี่ยวข้องในเชิงเศรษฐกิจ โดยมอบหมายให้บมจ.กสท โทรคมนาคม ไปศึกษาแนวทางว่าจะทำประโยชน์อย่างไรให้แล้วเสร็จใน 1 เดือน

และในส่วนของตำแหน่งวงโคจรที่ 50.5 องศาตะวันออกที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและเศรษฐกิจนั้น ทางกระทรวงไอซีที เสนอให้เปิดสัมปทานให้เอกชน

ทั้ง 2 วงโคจรจะสิ้นสุดระยะเวลาจองวงโคจรในปี 55 ประกอบด้วยวงโคจรที่ 120 องศาฯ จะหมดอายุในเดือน ม.ค.55 ส่วนวงโคจรที่ 50.5 องศาฯ จะหมดอายุในเดือน ต.ค.55

รายงานข่าว เปิดเผยว่า กระทรวงไอซีทีระบุว่าได้พิจารณาและเล็งเห็นความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องดำเนินการรักษาตำแหน่งวงโคจรของประเทศไทยที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญและจำเป็นของประเทศอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมที่สามารถให้ประโยชน์ต่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ คือตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม ณ 120 องศาตะวันออก และ 50.5 องศาตะวันออก

เนื่องจากตำแหน่งวงโคจรทั้งสองแห่งดังกล่าวมีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจของโลกในบริเวณประเทศที่มีเขตที่ตั้งในทวีปเอเชีย (เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบางส่วนของจีน) ทวีปออสเตรเลีย ทวีปแอฟริกา รวมทั้ง มหาสมุทรอินเดีย และบางส่วนของมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีประชากรซึ่งยังมีความต้องการใช้ระบบสื่อสารโทรคมนาคมจากการสื่อสารผ่านดาวเทียม เนื่องจากข้อจำกัดด้านสภาพทางภูมิศาสตร์ ตลอดจนเป็นพื้นที่ที่มีความยุ่งยากในการที่จะใช้โครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมภาคพื้นดิน ซึ่งระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะทำให้ประชาชนผู้รับบริการในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดนั้นสามารถมีทางเลือกในการใช้บริการสื่อสารได้

ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดสร้างดาวเทียมสื่อสารนั้นจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 2-3 ปี ซึ่งหากมิได้ดำเนินการกำหนดนโยบายใดๆ อาจจะทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการรักษารักษาตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมที่สำคัญๆ ได้ แต่หากรัฐบาลมีความชัดเจนในนโยบายการดำเนินงานที่แสดงเจตนารมณ์ว่าจะดำเนินการจัดให้มีดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทยเพื่อใช้ประโยชน์ในตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมตำแหน่งดังกล่าวแล้ว จะมีผลให้กระทรวงไอซีทีสามารถดำเนินการเจรจากับ ITU ได้ว่าขณะนี้รัฐบาลไทยได้มีแผนการดำเนินงานในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ซึ่งจะช่วยทำให้การรักษาตำแหน่งวงโคจรในครั้งนี้เป็นไปด้วยความราบรื่น และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการรักษาตำแหน่งวงโคจรที่เป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในครั้งนี้ได้ต่อไป

อนึ่ง ปัจจุบันประเทศไทยมีการจองตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) จำนวน 6 ตำแหน่ง ได้แก่ 50.5 องศาตะวันออก 78.5 องศาตะวันออก 119.5 องศาตะวันออก 120 องศาตะวันออก 126 องศาตะวันออก และ 142 องศาตะวันออก

ขณะที่ตำแหน่งวงโคจรที่ 78.5 องศาตะวันออก และ 119.5 องศาตะวันออก ยังคงมีดาวเทียมให้บริการคือ ดาวเทียมไทยคม 5 และดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) สถานภาพในขณะนี้จึงยังไม่มีประเด็นการเสียสถานะของตำแหน่งวงโคจร

ส่วนตำแหน่งวงโคจรที่ 126 องศาตะวันออก และ 142 องศาตะวันออก ไม่เคยมีการใช้งานดาวเทียม และขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มที่จะใช้งานในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีพื้นที่ครอบคลุมบริเวณที่เป็นทะเลแถบมหาสมุทรอินเดีย และบางส่วนของมหาสมุทรแปซิฟิก จะต้องใช้เงินลงทุนสูงในส่วนของสถานีรับ-ส่งบนโลกที่ต้องจัดตั้งในบริเวณพื้นที่กลางทะเล

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในอนาคต กระทรวงไอซีที ยังคงดำเนินการรักษาตำแหน่งวงโคจรดังกล่าวไว้ ด้วยการส่งเอกสารการจองเพิ่มเติมเพื่อรักษาสิทธิในตำแหน่งวงโคจร โดยขณะนี้สถานะของการจองตำแหน่งของตำแหน่งวงโคจรที่ 126 องศาตะวันออก มีอายุการจองสิ้นสุดในปี 56 และ ตำแหน่งวงโคจร 142 องศาตะวันออก จะมีอายุการจองสิ้นสุดประมาณปลายปี 55


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ