ก.พลังงานเร่งปรับแผน PDP รองรับหากไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 22, 2011 18:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพลังงานเร่งจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศไทย(PDP)ใหม่ พร้อมศึกษาความพร้อมหลายแนวทาง ทั้งกรณีที่จะไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และกรณีเลื่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าระบบออกไป 2 ปี ทั้งนี้หากไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจจำเป็นต้องเลื่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแอลเอ็นจีเข้าระบบเร็วขึ้น และซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งปรับสำรองไฟฟ้าขึ้นเป็น 20%

"ยังระบุไม่ได้ว่าการทำแผนพีดีพีฉบับใหม่นั้นควรจะเป็นชื่อแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือว่าจะเปลี่ยนเป็นแผน PDP ใหม่เลย โดยยังอยู่ระหว่างการศึกษาการจัดทำแผนในหลายกรณี เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย เช่น กรณีไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทย หรือกรณีเลื่อนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าระบบออกไปอีก 2 ปี อีกทั้งมีการคาดการณ์ด้วยว่า อีก 12 ปีข้างหน้าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีอยู่จริงจะหมดลง แต่หากนับรวมปริมาณสำรองก๊าซที่คาดว่าจะมีนั้นอาจจะหมดลงในอีก 20 ปี ดังนั้นจะต้องปรับแผนใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์พลังงานของประเทศต่อไป" นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าว

นายชวลิต กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการประสานงานพิจารณาผลกระทบจากกรณีปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นต่อการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือแผน PDP อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการจัดทำแผนพีดีพีของไทยใหม่ จากปัจจุบันไทยใช้แผน PDP 2010(2553-2573)อยู่ โดยเบื้องต้นจะศึกษาหลายแนวทาง อาทิ 1.จัดทำแผน PDP ใหม่กรณีไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทย 2.กรณีชะลอโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าระบบออกไปอีก 2 ปี จากเดิมเข้าระบบในปี 2563 เป็น 2565 และ 3.กรณีที่ไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ไม่อนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยนั้น ในแผน PDp ฉบับใหม่นี้อาจจะต้องเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินจากแผนเดิมที่จะสร้าง 9 โรง ต้องเพิ่มเป็น 13 โรง โรงละ 800 เมกะวัตต์ รวมทั้งจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี เข้าระบบให้เร็ว2 ปี จากเดิมเข้าระบบในปี 2565 เป็นปี 2563 แทนจำนวน 2 โรง ขนาดกำลังการผลิตโรงละ 800 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าต้องใช้แอลเอ็นจีประมาณ 10 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้อาจต้องพิจารณาซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ตามสัดส่วนในแผน PDP เดิมที่กำหนดว่า หากซื้อไฟฟ้าจาก 1 ประเทศ ซื้อได้ไม่เกิน 13% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด หากซื้อจาก 2 ประเทศ ให้ซื้อได้ไม่เกิน 25% หากซื้อจาก 3 ประเทศ ให้ซื้อได้ไม่เกิน 33% และหากซื้อจาก 4 ประเทศ ให้ซื้อได้ไม่เกิน 38% เป็นต้น โดยปัจจุบันไทยซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเพียงประเทศเดียว แต่การซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านจำเป็นที่ไทยต้องมีปริมาณสำรองไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยที่ควรสำรอง 15% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ จะต้องเพิ่มขึ้นประมาณ 20% แทน

สำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 24,009 เมกะวัตต์ ขณะที่แผน PDP 2010 ที่ใช้ในปัจจุบันได้คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้น 65,547 เมกะวัตต์ จึงได้วางแผนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม โดยมีการกำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 13 โรง โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด 9 โรง และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ จำนวน 5 โรง โดยหากรัฐบาลอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ โรงแรกจะเข้าระบบภายในปี 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ