ไทยอาจต้องปรับแผน PDP หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ส่อสะดุด หวั่นซ้ำรอยญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 23, 2011 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมความร่วมมือการกำกับกิจการพลังงานระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ "Regulatory and the Energy Sustainability"ว่า ประเทศไทยอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศใหม่(พีดีพี) โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อนำมาพัฒนาแผนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ กรณีปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศญี่ปุ่นถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ไทยต้องนำมาศึกษาและทบทวนในแผนพีดีพีกันใหม่ เนื่องจากแผนพีดีพี 2010 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีการบรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ 5 โรง ขนาดกำลังการผลิตโรงละ 1,000 เมกะวัตต์ กำหนดก่อสร้างครบในปี 2573 แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นประสบปัญหาขัดข้องจากกรณีแผ่นดินไหว 8.9 ริกเตอร์ ทำให้ไทยต้องปรับแผนพีดีพีเช่นกัน โดยหากไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไทยจะต้องนำพลังงานอื่นมาทดแทน เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านแทน

อย่างไรก็ดี รมว.พลังงาน ยืนยันว่า ในปีนี้กระทรวงพลังงานจะไม่เสนอแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้กับคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอย่างแน่นอน

นายดิเรก ลาวัลย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ กล่าวว่า เรกูเลเตอร์จะจัดทำโครงสร้างการใช้ไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วย/เดือน ได้เสร็จภายในกลางเดือน เม.ย.นี้ จากนั้นจะเปิดรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องก่อนจัดทำเป็นโครงสร้างถาวร ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่เดือนมิ.ย.54 เป็นต้นไป โดยผู้ที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วย/เดือนนั้น จะถูกนำไปคิดรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าฐานต่อไป

นอกจากนี้เรกูเลเตอร์ยังอยู่ระหว่างการศึกษาการจัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าของประเทศใหม่ โดยจะนำแนวทางจากต่างประเทศมาปรับใช้กับไทย เช่น การทำสัญญากับผู้ใช้ไฟฟ้าตามความสมัครใจให้สามารถถูกตัดไฟฟ้าในช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)ได้ โดยผู้ถูกตัดไฟฟ้าจะได้รับเงินคืนเป็นสองเท่าหรือไปหักออกในบิลค่าไฟฟ้าได้ โดยคาดว่าจะศึกษาเสร็จใน 1-2 ปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ