รมว.พลังงาน เตรียมหาพลังงานอื่นมาทดแทนหลังชะลอแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 23, 2011 17:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รมว.พลังงาน ยันไม่เร่งรัดเสนอแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดนี้ตัดสินใจ โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะ 20 ปี(PDP) ให้มีความชัดเจนก่อน ขณะที่นักวิชาการเสนอตั้งกองทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อเป็นหลักประกันให้ชุมชน

"กระทรวงพลังงานจะยังไม่เร่งเสนอแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้คณะรัฐมนตรีชุดนี้พิจารณา โดยจะทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะ 20 ปี หรือพีดีพี 2010 ว่าจะนำพลังงานใดมาทดแทน" นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวในงานเสวนาเรื่อง วิกฤตนิวเคลียร์...ประเทศไทย? ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ

รมว.พลังงาน กล่าวว่า หากไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามแผนงานที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ต้องพิจารณาว่าจะนำพลังงานใดมาใช้ทดแทน อาทิ พลังงานลม น้ำ แสงอาทิตย์ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน รวมทั้งการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน หลังเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดในประเทศญี่ปุ่น ทำให้หลายฝ่ายกังวลเรื่องความปลอดภัย

เดิมแผน PDP กำหนดให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 5 โรง กำลังการผลิตโรงละ 1,000 เมกะวัตต์ และเริ่มจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2563 ทั้งนี้การทบทวนแผน PDP อาจจะเสร็จไม่ทัน ครม.ชุดนี้ แต่ไม่ใช่ปัญหาเพราะยังมีเวลาการเตรียมการอีก 10 ปี และปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการศึกษา ยังไม่ตัดสินใจว่าจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เป็นห่วงสถานการณ์ปริมาณสำรองไฟฟ้าในช่วงปี 2557 ที่จะลดต่ำลงเหลือประมาณร้อยละ 9 ของกำลังการผลิตติดตั้ง ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาไฟฟ้าตกดับได้ จึงต้องมีการจัดหาไฟฟ้าเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นๆ

ด้าน นายสุพิณ ปัญญามาก ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ได้เสนอผลการศึกษาเบื้องต้นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้กระทรวงพลังงานพิจารณาตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. แต่กระทรวงพลังงานได้ส่งเรื่องกลับให้ไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของการตั้งองค์กร และกฎหมายกำกับดูแล รวมทั้งการยอมรับของประชาชน ส่วนการศึกษาพื้นที่ ขณะนี้เหลือเพียง 5 แห่ง และจะลดเหลือ 3 แห่ง เพื่อเสนอต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) โดยจะต้องพิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์ และการยอมรับของชุมชน

อย่างไรก็ตาม ในการรับฟังความเห็นจากประชาชนได้มีการชี้แจงเรื่องการจัดตั้งกองทุนโรงฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ จากปัจจุบันที่มีกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว เพื่อเป็นหลักประกันให้กับชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า โดยเสนอให้มีการเก็บเงินเข้ากองทุนประมาณ 5 สตางค์ต่อหน่วย นอกจากนี้ยังเสนอให้ตั้งกองทุนดูแลความความเสี่ยง เพื่อประกันความปลอดภัย กองทุนประกอบอาชีพ หากจำเป็นต้องมีการย้ายประชาชนในพื้นที่ออกจากที่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า รวมถึงสนับสนุนงบประมาณให้กับอำเภอ หรือจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ทั้งนี้ ปัจจัยในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่หลายประเทศให้ความสำคัญ คือ การพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาให้มีมาตรฐานสากลได้ ส่วนเรื่องความเชี่ยวชาญของบุคลากรในเรื่องนี้ไม่น่ากังวล เพราะสามารถพัฒนาการเรียนรู้ให้เป็นไปตามมาตรฐานได้ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงเรื่องภัยธรรมชาติประเทศไทยก็ไม่มีปัญหาเรื่องนี้

ขณะที่นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เลขาธิการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทประกันภัยทั่วโลกจะไม่เข้ามารับประกันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เนื่องจากไม่สามารถรับภาระความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ รัฐบาลจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วยการตั้งกองทุนนิวเคลียร์เข้ามาดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นการเฉพาะ

ทั้งนี้ ภาครัฐได้ประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าใน 10 ปีข้างหน้าสูงเกินไป ทำให้ต้องเร่งหาโรงไฟฟ้าใหม่ๆ แต่มองว่า หากบริหารจัดการประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าของชาวบ้านจะประหยัดไฟฟ้าลงได้อีกจำนวนมาก เช่น หากสนับสนุนให้หันมาใช้หลอดผอมทั้งประเทศ ซึ่งใช้เงินประมาณ 120 กว่าล้านบาท จะประหยัดพลังงานได้ถึงร้อยละ 30 สามารถทดแทนการสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1,000 เมกะวัตต์ได้ นอกจากนี้ยังสามารถสนับสนุนให้สำนักงานต่างๆ ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเหมือนอาคาร Energy Complex ศูนย์ราชการ

"หากบริหารความต้องการไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำและก๊าซธรรมชาติน่าจะเพียงพอ จึงไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์" นายวิฑูรย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ