กรมการข้าวพบเพลี้ยกระโดดฯระบาดซ้ำรอยพื้นที่ภาคกลาง-ภาคเหนือตอนล่าง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 24, 2011 11:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์ข้าว กรมการข้าว เปิดเผยว่า จากการติดตามเฝ้าระวังการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลพบว่า ขณะนี้มีการระบาดในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรีและนครนายก และมีการเคลื่อนย้ายของ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เข้ามาในพื้นที่ปลูกเขตภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง (ในพื้นที่ 14 จังหวัด ที่มีการระบาดของเพลี้ย กระโดดสีน้ำตาลในปีที่ผ่านมา) และมีรายงานสำรวจพบต้นข้าวเป็นโรคใบหงิกในแปลงนาเขต อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

ดังนั้นเพื่อเป็นการควบคุมไม่ให้การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลขยายวงกว้างและรุนแรงเช่นการระบาดในรอบปีที่ผ่านมา กรมการข้าว จึงมีคำแนะนำเกษตรกรที่ปลูกข้าวในพื้นที่ข้างต้นกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่มาเล่นแสงไฟจำนวนมาก เพื่อลดจำนวนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่จะไประบาดในแปลงนาข้าว

ส่วนในระยะข้าวแตกกอ หรืออายุข้าวไม่เกิน 40 วัน หากพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ส่วนใหญ่เป็นชนิดปีกยาวให้งดใช้สารเคมีใดๆ แต่ถ้าพบแมลงส่วนใหญ่เป็นตัวอ่อนให้ใช้สารตามคำแนะนำของกรมการข้าว

สำหรับข้าวอายุมากกว่า 40 วันขึ้นไป แนะนำให้ลงสำรวจในแปลงนาทุกสัปดาห์ หากพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมากกว่า 1 ตัวต่อต้น ขึ้นไป ให้ปฏิบัติและใช้สารตามคำแนะนำของกรมการข้าว

กรณีที่พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในแปลงนาในระยะข้าวแตกกอเต็มที่ ถึงระยะออกรวง ในระดับมากกว่า 10 ตัวต่อต้น ขึ้นไป ให้เกษตรกรเร่งระบายน้ำออกจากนา ให้แปลงนาอยู่ในสภาพดินเปียก ซึ่งจะเป็นการช่วยลดจำนวนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล การพ่นสารเคมีฆ่าแมลงในสภาพการระบาดเช่นนี้ไม่คุ้มต่อการลงทุน เนื่องจากจะมีการอพยพเข้ามาของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจากแปลงข้างเคียงอยู่ตลอดเวลา

ในกรณีพื้นที่ที่ยังไม่มีการปลูกข้าวให้ชะลอการปลูกข้าวไปจนกว่าจะไม่พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมาเล่นแสงไฟ

ในกรณีที่ต้องการปลูกข้าวรอบใหม่ ให้เปลี่ยนพันธุ์ข้าวจากพันธุ์เดิมที่เคยปลูก โดยใช้พันธุ์ข้าวต้านทานดังนี้ กข31 กข41 กข29 พิษณุโลก 2 สุพรรณบุรี 1 และชัยนาท 1 โดยเกษตรกรสามารถติดต่อซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวได้จากหน่วยงานของกรมการข้าวในจังหวัดปทุมธานี พิษณุโลก ชัยนาท ลพบุรี นครสวรรค์ กำแพงเพชร และสุโขทัย

ส่วนกรณีสำรวจพบต้นข้าวเป็นโรคใบหงิกหรือเขียวเตี้ยจำนวนเล็กน้อยหรือประปรายในแปลงนาให้ถอนและฝังหรือเผาทำลาย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งของโรคที่จะแพร่ระบาดต่อไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ