นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่มีสัญญาณการชะลอตัว โดยทุกภูมิภาคอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับเข้มแข็ง เพราะการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐส่งผลให้กิจกรรมภายในจังหวัดดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่นโยบายด้านการส่งเสริมการลงทุนของจังหวัดยิ่งเป็นตัวเร่งให้ภาคเอกชนเกิดการลงทุน ราคาพืชผลทางการเกษตรอยู่ในระดับดี โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในภาพรวมในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ จะขยายตัว 2.4% และไตรมาส 2 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.4% เฉลี่ยทั้งปีขยายตัว 4.2%
ส่วนการประเมินสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค พบว่าเศรษฐกิจภาคกลางในไตรมาส 1 จะขยายตัว 3.1% มากที่สุดใน 5 ภูมิภาค เพราะการส่งออกขยายตัว รวมถึงราคาพืชผลทางการเกษตรอยู่ในระดับสูง ส่วนไตรมาส 2 คาดว่าจีดีพีจะอยู่ที่ 5.8% เพราะราคาสินค้าเกษตรดี รวมทั้งปีจีดีพีของภาคกลางน่าจะอยู่ที่ 5.5%
ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในไตรมาส 1 จีดีพีจะขยายตัว 2.2% เป็นผลจากยอดรับคำสั่งซื้อของภาคเอกชนมีมากขึ้น ส่วนการบริโภคเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว แต่ยังระมัดระวังการใช้จ่าย เพราะปัญหาราคาสินค้าที่สูงขึ้น ส่วนไตรมาส 2 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 4.1% และทั้งปีจะขยายตัว 3.9%
ด้านภาคใต้ ในไตรมาส 1 จีดีพีจะขยายตัว 2.1% เพราะราคาพืชเกษตรปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะยางพารา ปาล์มน้ำมัน และการท่องเที่ยวเริ่มคึกคัก โดยในไตรมาส 2 คาดจีดีพีจะโต 3.4% เฉลี่ยทั้งปีเติบโต 3.3%
ขณะที่ภาคอีสานจีดีพีขยายตัว 1.9% เพราะมีการขยายตัวในอุตสาหกรรมน้ำตาลและพืชเกษตรมีราคาดี ส่วนในไตรมาส 2 คาดว่าจีดีพีจะโต 3.4% เฉลี่ยทั้งปีจีดีพีโต 3.3% และภาคเหนือจีดีพีในไตรมาสแรกขยายตัว 1.8% จากการเกษตรและการท่องเที่ยวขยายตัวดี ส่วนไตรมาส 2 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 3.2% และทั้งปีคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ระดับ 3.1%
"ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของไทย เพราะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาคอยู่ในระดับที่ดี โดยเฉพาะภาคเหนือ ใต้ อีสาน กำลังซื้อประชาชนเพิ่มขึ้นจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่สูงขึ้น ทั้งอ้อย, ปาล์มน้ำมัน, มันสำปะหลัง ทำให้การจับจ่ายใช้สอยคึกคัก ขณะที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ การบริโภคยังไม่ดีมากนัก เพราะพึ่งพาอุตสาหกรรมเป็นหลัก จึงมีความกังวลเรื่องปัญหาน้ำมันแพง" นายธนวรรธน์ กล่าว