ธปท.ห่วงหากราคาน้ำมันพุ่ง 130-150 เหรียญฯอาจดันเงินเฟ้อพื้นฐานไป 3.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 24, 2011 16:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายตลาดการเงิน มองว่าในช่วงปลายปี 54 ถึงต้นปี 55 เงินเฟ้อพื้นฐานมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% และยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบดูไบปรับขึ้นไปที่ระดับราคา 130-150 เหรียญ/บาร์เรล เงินเฟ้อพื้นฐานมีโอกาสพุ่งขึ้นไปถึงระดับ 3.5%

ทั้งนี้ ในปี 54 แรงกกดันเงินเฟ้อสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานที่เร่งตัวขึ้น ทำให้ธปท.ต้องทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น โดยมองว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะมีเพิ่มขึ้นค่อนข้างชัดเจน ทั้งจากราคาอาหารและราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง กระทบต้นทุนสินค้าและบริการ รวมถึงความสามารถในการตรึงราคาของผู้ผลิตมีน้อยลง นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากอุปสงคที่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจนขึ้นตามเศรษฐกิจทั้งจากรายได้นอกภาคเกษตร และภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี

"โอกาสที่ดอกเบี้ยจะลงและทรงตัวมีโอกาสน้อย เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่กดดันต่อเงินเฟ้อ ทั้งจากราคาอาหาร ราคาพลังงาน และการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ เรามีเหตุผลที่ดูแลไม่ให้เงินเฟ้อสูงขึ้น" นางผ่องเพ็ญ กล่าวในงานสัมมนา เรื่อง"ค่าเงินบาทหรือดอกเบี้ย Impact ใดแรงกว่ากัน?"

นอกจากนี้ นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า ค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันอ่อนค่าไป 0.43% เป็นผลจากเงินทุนไหลออก โดยเฉพาะจากตลาดหุ้นในเดือน ม.ค.แต่ภาวะการไหลออกเริ่มทรงตัว

"ค่าเงินบาทขณะนี้เริ่มทรงตัว และเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆแล้ว โดยค่าเงินบาท อ่อนค่าลงมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งถือเป็นการชดเชยกับการเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมาที่เงินบาทแข็งค่ากว่ามากกว่าภูมิภาค ทั้งนี้ มองสถานการณ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนมีการไหลเข้าออกเป็นช่วง แต่โดยรวมยังมีไหลออกสุทธิ" นางผ่องเพ็ญ กล่าว

ส่วนในตลาดพันธบัตรยังมีแรงเข้าลงทุน แต่เป็นการซื้อเพื่อทดแทนพันธบัตรเก่าที่ครบกำหนด โดยรวมมองว่าแรงกดดันต่อค่าเงินบาทมีลดลง เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 3/53

กรณีเกิดภัยพิบัติในญี่ปุ่น นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน และค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเยนยังเคลื่อนไหวปกติ ซึ่งระยะสั้นเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบในด้านการส่งออก แต่มองว่าระยะยาวน่าจส่งผลดี เนื่องจากญี่ปุ่นต้องมีการนำเข้าสินค้ามากขึ้น โดยเพาะสินค้าอาหาร และหากญี่ปุ่นมีนโยบายขยายฐานการผลิตไปต่างประเทศเชื่อว่าไทยน่าจะได้รับประโยชน์จากการเช้ามาลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ในภาคสถาบันการเงินไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติของญี่ปุ่น เนื่องจากสาขาธนาคารพาณิชย์ของไทยไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสียหาย แต่หากผู้ประกอบการประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์สามารถผ่อนผันเกณฑ์ให้ลูกค้าได้ และหากเกณฑ์จำกัดดูแล เป็นอุปสรรคการดูแลูกค้า ธปท.พร้อมจะผ่อนผันเพิ่มเติม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ