นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยเตรียมปรับตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจในปีนี้ของไทยในเดือน เม.ย.นี้ หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบในประเทศลิเบียและสถานการณ์ภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น
โดยเบื้องต้นได้ประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว สึนามิ และการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่นแล้วคาดว่า จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ลดลงราว 0.1- 0.2%
ทั้งนี้ เนื่องจากการขยายตัวด้านการส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่นจะลดลงเหลือเพียง 8-10% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวถึง 9-12% จำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นลดลงจาก 1.04 ล้านคน เหลือเพียง 9.9 แสนคน แต่ยังเชื่อว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ยังอยู่ที่ระดับ 4-5% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนเรื่องราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น การส่งออกในภาพรวมยังขยายตัวได้ดี และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงกลางปีซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดราว 4-5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้ประกอบการภาคบริการและอุตสาหกรรม 800 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-21 มี.ค.54 พบว่าในธุรกิจท่องเที่ยวผู้ประกอบการเห็นว่ายอดขายจะลดลง 15.1% ยอดจองทัวร์โรงแรมไปญี่ปุ่นลดลง 78.8% การยกเลิกการจองทัวร์/ที่พักไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 77.2% ยอดจองทัวร์โรงแรมจากญี่ปุ่นมาไทยลดลง 2.4% การยกเลิกการจองที่พัก/ทัวร์จากญี่ปุ่นมาไทยเพิ่มขึ้น 19.4%
ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่ทำการค้าระหว่างประเทศกับญี่ปุ่นนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ตอบว่า ยอดขายจะลดลง 22.2% ต้นทุนเพิ่มขึ้น 14.8% สภาพคล่องธุรกิจลดลง 19.4% ยอดรับคำสั่งซื้อลดลง 21.8% ส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นลดลง 35.9% และนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นลดลง 32.2% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์, กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ายอดขายลดลง
สำหรับระยะเวลาที่จะได้รับผลกระทบนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คาดว่าจะกระทบประมาณ 6 เดือน และญี่ปุ่นจะใช้เวลาฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 7 เดือน โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ทำให้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับตัวค่อนข้างมาก เช่น การประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ปรับกลยุทธทางด้านราคา เพิ่มจุดเด่นของสินค้าและเพิ่มโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้า สร้างช่องทางการตลาด และเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งออก
ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้คาดว่า จะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.4% ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี ภาคการบริโภคและการลงทุนยังมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในทุกภูมิภาคของประเทศยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้คาดว่าจะคงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.4% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 2