(เพิ่มเติม) ธปท.ห่วงหากราคาน้ำมันพุ่ง 130-150 เหรียญฯอาจดันเงินเฟ้อพื้นฐานไป 3.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 24, 2011 18:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายตลาดการเงิน มองว่าในช่วงปลายปี 54 ถึงต้นปี 55 เงินเฟ้อพื้นฐานมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% และยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบดูไบปรับขึ้นไปที่ระดับราคา 130-150 เหรียญ/บาร์เรล เงินเฟ้อพื้นฐานมีโอกาสพุ่งขึ้นไปถึงระดับ 3.5%

ทั้งนี้ ในปี 54 แรงกกดันเงินเฟ้อสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานที่เร่งตัวขึ้น ทำให้ธปท.ต้องทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น โดยมองว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะมีเพิ่มขึ้นค่อนข้างชัดเจน ทั้งจากราคาอาหารและราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง กระทบต้นทุนสินค้าและบริการ รวมถึงความสามารถในการตรึงราคาของผู้ผลิตมีน้อยลง นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากอุปสงคที่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจนขึ้นตามเศรษฐกิจทั้งจากรายได้นอกภาคเกษตร และภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี

"โอกาสที่ดอกเบี้ยจะลงและทรงตัวมีโอกาสน้อย เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่กดดันต่อเงินเฟ้อ ทั้งจากราคาอาหาร ราคาพลังงาน และการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ เรามีเหตุผลที่ดูแลไม่ให้เงินเฟ้อสูงขึ้น"นางผ่องเพ็ญ กล่าวในงานสัมมนา เรื่อง"ค่าเงินบาทหรือดอกเบี้ย Impact ใดแรงกว่ากัน?"

นอกจากนี้ นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า ค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันอ่อนค่าไป 0.43% เป็นผลจากเงินทุนไหลออก โดยเฉพาะจากตลาดหุ้นในเดือน ม.ค.แต่ภาวะการไหลออกเริ่มทรงตัว

"ค่าเงินบาทขณะนี้เริ่มทรงตัว และเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆแล้ว โดยค่าเงินบาท อ่อนค่าลงมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งถือเป็นการชดเชยกับการเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมาที่เงินบาทแข็งค่ากว่ามากกว่าภูมิภาค ทั้งนี้ มองสถานการณ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนมีการไหลเข้าออกเป็นช่วง แต่โดยรวมยังมีไหลออกสุทธิ" นางผ่องเพ็ญ กล่าว

ส่วนในตลาดพันธบัตรยังมีแรงเข้าลงทุน แต่เป็นการซื้อเพื่อทดแทนพันธบัตรเก่าที่ครบกำหนด โดยรวมมองว่าแรงกดดันต่อค่าเงินบาทมีลดลง เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 3/53

กรณีเกิดภัยพิบัติในญี่ปุ่น นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน และค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเยนยังเคลื่อนไหวปกติ ซึ่งระยะสั้นเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบในด้านการส่งออก แต่มองว่าระยะยาวน่าจส่งผลดี เนื่องจากญี่ปุ่นต้องมีการนำเข้าสินค้ามากขึ้น โดยเพาะสินค้าอาหาร และหากญี่ปุ่นมีนโยบายขยายฐานการผลิตไปต่างประเทศเชื่อว่าไทยน่าจะได้รับประโยชน์จากการเช้ามาลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ในภาคสถาบันการเงินไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติของญี่ปุ่น เนื่องจากสาขาธนาคารพาณิชย์ของไทยไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสียหาย แต่หากผู้ประกอบการประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์สามารถผ่อนผันเกณฑ์ให้ลูกค้าได้ และหากเกณฑ์จำกัดดูแล เป็นอุปสรรคการดูแลูกค้า ธปท.พร้อมจะผ่อนผันเพิ่มเติม

*ดอกเบี้ยนโยบายยังปรับขึ้นอีก

นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า ดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นหากปัญหาตะวันออกกลางไม่ยุติ และจะทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นกว่าระดับปัจจุบัน ทั้งนี้ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ประเทศอื่นในภูมิภาคปรับขึ้นเช่นกัน พบว่า บางประเทศพบว่ามีการปรับดอกเบี้ยล่าช้าส่งผลให้มีเงินทุนไหลออก เพราะต่างชาติอาจจะมีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและอาจจะเกิดปัญหาฟองสบู่จนทำให้สินทรัพย์ลดลงได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต่างชาติมีความกังวล

"เป็นสิ่งที่ต่างชาติกลัว หากประเทศยังใจเย็นไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นไม่ได้ดึงดูดให้เงินต่างชาติไหลเข้า ไทยยังเป็นประเทศที่มีดอกเบี้ยนโยบายต่ำเป็นประเทศที่สอง เรายังสูงกว่าไต้หวัน หากเราไม่ขึ้นดอกเบี้ยอาจจะเกิดปัญหาได้ ประกอบกับไทย เป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพในการใช้น้ำมันต่ำจึงมีความเสี่ยงมากกว่าประเทศอื่น"นางผ่องเพ็ญ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นดอกเบี้ยสูงขึ้นส่งผลดีต่อผู้เงินฝากประจำ 3-12 เดือน โดยมีผู้ฝากเงินมีจำนวน 79 ล้านบัญชี เป็นเงินฝาก 7.4 ล้านล้านบาท ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้กระทบต่อต้นทุนต่อผู้ประกอบการมากนัก โดยจากข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์พบว่ามีต้นทุนดอกเบี้ยไม่ถึง 10%ของต้นทุนการดำเนินงาน

"การดูแลเงินฟ้อเป็นหน้าที่หลักของธปท.ที่จะดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ระดับเหมาะสม โดยใช้เครื่องมือด้านดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือหลักในการดูแลเงินเฟ้อ และขอให้มั่นใจว่า ธปท.จะดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ระดับเหมาะสมได้อย่างแน่นอน"ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

*แรงกดดันเงินบาทแข็งค่ามีน้อยลง

นางผ่องเพ็ญ กล่าวถึงค่าเงินบาทในปี 54 จะเคลื่อนไหวในลักษณะ 2 ทิศทาง แต่แรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่ามีน้อยลง เนื่องจากในปีนี้คาดว่าดุลการค้าและดุลบัญชีสะพัดเกินดุลน้อยลงจากปีก่อน เนื่องจากมีการนำเข้ามากกว่าการส่งออก นอกจากนี้ยังมีแรงซื้อเงินตราต่างประเทศของผู้นำเข้าเพิ่มขึ้น แต่แรงขายเงินตราต่างประเทศของผู้ส่งออกเริ่มชะลอลง เนื่องจากได้มีการเร่งขายล่วงหน้าไปก่อนหน้านี้แล้ว ขณะที่บริษัทในประเทศจะมีการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้าออกในประเทศจะมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนของค่าเงินดอลลาร์ และการเคลื่อนย้ายเงินทุนมายังภูมิภาครวมทั้งในไทย เป็นผลมาจากความไม่สงบในตะวันออกกลาง และปัญหาภัยพิบัติในญี่ปุ่น ปัญหาหนี้สินในยุโรป และสหรัฐ รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศในภูมิภาค ซึ่งในส่วนไทย เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีการเติบโตมากกว่า นอกจากนี้ปัจจัย ที่เงินบาทแข็งค่าน้อยลง เพราะนักลงทุนต่างชาติลดการลงทุนในตลาดหุ้นไทย แต่ยังคงซื้อตราสารหนี้ไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการซื้อทดแทนตราสารหนี้เดิมที่ครบกำหนด

"เงินบาทที่ผันผวนขึ้นลง ทำให้ผู้ที่มีภาระทำธุรกรรมในต่างประเทศ จะต้องติดตามดุแลอย่างใกล้ชิด เพราะมีปัจจัยกระทบหลายเรื่อง" นางผ่องเพ็ญ กล่ว

การดุแลค่าเงินบาท ในระยะยาว ธปท.มีนโยบายสนับยสนุนให้ภาครัฐและเอกชนมีวินัยในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพราะการแทรกแซงค่าเงินมีผลระยะสั้น และยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี ธปท.ไม่สามารถเปลี่ยนแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนได้

ทั้งนี้ ภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ธปท.ไม่สามารถคาดการณ์อัตราแลกเปลี่ยนในระยะข้างหน้าได้ เช่นเดียวกับดอกเบี้ยนโยบาย ที่กนง.จะพิจารณาข้อมูลจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย พร้อมแนะให้ผุ้ประกอบการ ที่มีโครงสร้างภาระการเงินที่แตกต่างกันได้พิจาณตามลักษณะธุรกิจและฐานะของบริษัท และเตรียมความพร้อมปรับตัวรองรับปัจจัยเสี่ยงทั้งเรื่องดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดเพื่อสามารถบริหารจัดการและวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ