สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ราคายางยางแผ่นดิบคุณภาพ 3 ที่เกษตรกรขายได้ในเดือนมี.ค.มีการปรับตัวลดลงจากในช่วงเดือนก.พ. เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในลิเบีย และจีนชะลอการส่งมอบยาง ประกอบกับเหตุสึนามิในญี่ปุ่น นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการ สศก. เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคายางแผ่นดิบคุณภาพ 3 ที่เกษตรกรขายได้ในช่วงเดือนมี.ค. 2554 ซึ่งเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างรวดเร็ว โดยราคามีแนวโน้มลดลงจากเดือนก.พ. 2554 ซึ่งเป็นราคาสูงที่สุดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 170.75 บาท เป็นกิโลกรัมละ 89 บาท ราคา ณ วันที่ 14 มี.ค. 2554 และราคาเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 155 บาท ราคา ณ วันที่ 22 มี.ค. 2554
นอกจากนี้ ราคาซื้อขายล่วงหน้ายางแผ่นรมควันชั้น 3 ในตลาดสิงคโปร์และตลาดโตเกียวก็มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน
สำหรับสาเหตุการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างรวดเร็วของราคายางพาราในช่วงเดือนมี.ค. 2554 ราคาลดลง เนื่องจากเป็นไปตามวัฏจักรของราคายางพาราซึ่งเป็นสินค้าที่มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายล่วงหน้า และจากการวิเคราะห์ดัชนีราคายางแผ่นดิบที่เกษตรกรขายได้ ราคายางจะโน้มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม และอยู่ในระดับสูงสุดในเดือนก.พ. เนื่องจากพ่อค้าจะเร่งรับซื้อยางเก็บเข้าสต๊อกเพื่อรอการส่งมอบในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. และผู้ประกอบการค้ายางทั่วไปทราบดีว่าในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. ของทุกปีเป็นช่วงต้นยางผลัดใบ ผลผลิตจะออกสู่ตลาดน้อยมาก ทำให้การเสนอซื้อยางในช่วงนี้ชะลอตัวราคาจึงปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ ราคายางมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีกครั้งเมื่อผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดในเดือนพ.ค. — มิ.ย. เพราะผู้ประกอบการค้ายางจะเข้าตลาดเพื่อซื้อยางรอส่งมอบในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย การเสนอซื้อจึงมีไม่มากนัก และในช่วง 4 เดือนหลังของปี (ก.ย.-พ.ย.)ราคายางจะเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกตั้งแต่เดือน และลดลงในเดือนธ.ค.ของทุกปี เนื่องจากเป็นเดือนที่มีผลผลิตยางออกสู่ตลาดมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนขึ้นลงของราคายางพาราในแต่ละปีจะมากหรือน้อยยังขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก เช่น การขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อัตราแลกเปลี่ยน ภาวะสงคราม การเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้า เป็นต้น
อีกสาเหตุที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคายาง คือ สถานการณ์ไม่สงบในประเทศลิเบียและประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ส่งผลทางจิตวิทยาต่อผู้ประกอบการและผู้เก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้า เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้เศรษฐกิจของโลกถดถอย จึงมีการเทขายหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคายางลดลงรุนแรง
สาเหตุต่อมา คือ จีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของไทยให้ชะลอการส่งมอบยางพารา เนื่องจากเห็นว่าราคายางเริ่มโน้มลดลง ทำให้พ่อค้าส่งออกต้องหาลูกค้าใหม่โดยเสนอราคาขายที่ต่ำลง
นอกจากนี้ การเกิดภัยพิบัติสึนามิในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ายางพารารายใหญ่ของไทย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ทำให้คาดว่าความต้องการซื้อยางพาราของญี่ปุ่นอาจลดลง เพราะบริษัทผู้ผลิตอะไหล่รถยนต์ลิขสิทธิ์ของบริษัทโตโยต้า นิสสัน และฮอนด้าได้หยุดดำเนินการผลิตชั่วคราว
ส่วนสาเหตุราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยได้ขอความร่วมกับประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ให้ชะลอการทำสัญญาซื้อขายยางพารา ส่งผลทางจิตวิทยาต่อผู้ประกอบการและผู้เก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้ารวมทั้งประเทศผู้ใช้เกรงว่าจะไม่สามารถซื้อยางพาราได้ หากทั้ง 3 ประเทศร่วมมือกัน และคาดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้ในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ