สศก.แจงจีดีพีภาคเกษตรไตรมาส 1/54 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 จากปีก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 25, 2011 11:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงไตรมาส 1/54 สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาสินค้าเกษตรโดยรวมค่อนข้างดี มีอัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนใหญ่เกิดจากการที่พืชสำคัญ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากอันเป็นผลเนื่องมาจากความต้องการของตลาดที่ขยายตัว และระดับราคาโดยเฉลี่ยค่อนข้างสูงในระยะที่ผ่านมาจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิต

เมื่อจำแนกเป็นรายสาขา พบว่า สาชาพืช มีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 6.9 โดย ข้าวมีผลผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 170 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะฝนแล้งและฝนทิ้งช่วงในกลางปี 53 จึงมีการเลื่อนระยะเวลาปลูกข้าวออกมา ผลผลิตจึงเข้าสู่ตลาด ทำให้ราคาข้าวในช่วงนี้ลดต่ำลงกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นโยบายการประกันรายได้เกษตรกรช่วยทำให้เกษตรกรไม่ได้รับความเดือดร้อนจากการตกต่ำของราคามากนัก

ยางพารามีราคาสูงมากเป็นประวัติการณ์เนื่องจากความต้องการในตลาดมีมาก ในบางช่วงราคายางแผ่นดิบสูงขึ้นกว่า 180 บาทต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตามแม้ราคาได้อ่อนค่าลงในช่วงเดือนมีนาคม เนื่องจากการชะลอรับซื้อของจีน ประกอบกับผู้ส่งออกมีสต๊อกในปริมาณมากพอแล้ว แต่ราคาที่เกษตรกรขายได้ในช่วงไตรมาสนี้ก็ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

ปาล์มน้ำมัน ในช่วงไตรมาสนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลงเกือบร้อยละ 30 เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในช่วงปลายปี 53 ราคาปาล์มน้ำมันในไตรมาสนี้จึงสูงเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกันคือประมาณ 7.80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ 110.8

สำหรับสินค้าอื่น เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย ราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากความต้องการของตลาดยังคงขยายตัว ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรและแปรรูปของไทยในช่วงไตรมาสนี้ขยายตัวได้ดีแม้ปริมาณสินค้าบางชนิด อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง กุ้งแช่เย็นแช่แข็ง น้ำมันปาล์ม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะลดลง แต่ในรูปของมูลค่าก็เพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา สำหรับข้าวมีการส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ดังนั้น ในภาพรวมของเศรษฐกิจการเกษตรของสาขาพืชจึงอยู่ในเกณฑ์ดี

สาขาปศุสัตว์ ภาวะการผลิตและราคาของสินค้าสำคัญ คือ ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ อยู่ในเกณฑ์ดี ผลผลิตเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ยกเว้น ไข่ไก่ซึ่งผลผลิตขาดแคลนในช่วงเดือนมกราคม ราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ระดับสูง ไม่มีปัญหาเรื่องโรคระบาดสัตว์ที่รุนแรงเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการเลี้ยงในระบบปิดทำให้สามารถควบคุมและดูแลได้ ในไตรมาส 1 สาขาปศุสัตว์มีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 3.1

ด้านสาขาประมง ภาวะการผลิตสาขาประมงในไตรมาส 1/54 ลดลงประมาณร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 53 โดยปริมาณสัตว์น้ำที่รวบรวม ณ ท่าเทียบเรือขององค์การสะพานปลาทั่วประเทศมีปริมาณลดลงประมาณร้อยละ 13.71 สาเหตุสำคัญมาจากความแปรปรวนด้านลมฟ้าอากาศ การเกิดภาวะแห้งแล้งในกลางปี 53 เป็นเวลานานทำให้การเจริญเติบโตของสัตว์น้ำชะลอตัว ขณะเดียวกันราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตสัตว์น้ำสูงขึ้นด้วย และสินค้าประมงสำคัญ คือ กุ้ง ในไตรมาส 1/54 มีปริมาณลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดลดลง เนื่องจากแหล่งผลิตใหญ่ทางภาคใต้ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับสาขาการบริการทางการเกษตร และป่าไม้ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 2 ของ GDP ภาคเกษตร มีอัตราการขยายตัวรวมกันประมาณร้อยละ 3 โดยผลผลิตจากป่าไม้ไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่การจ้างบริการทางการเกษตรยังคงขยายตัวตามการขยายตัวของการผลิตในสาขาพืช และปศุสัตว์

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในไตรมาส 1/54 ภาพรวมของเศรษฐกิจการเกษตรค่อนข้างดี แต่จากภาวะความแปรปรวนทางสภาพดินฟ้าอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลก การผลิตทางการเกษตรยังมีแนวโน้มเผชิญกับความเสี่ยงของภูมิอากาศ ในช่วงปลายไตรมาสเริ่มมีภาวะแล้งเกิดขึ้นในบางพื้นที่และมีแนวโน้มที่จะเกิดต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อาจจะไม่เพียงพอโดยเฉพาะเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งบางชนิด ดังนั้น แนวทางและมาตรการที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการคือ การประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรงดหรือชะลอการปลูกพืชบางชนิด เช่น ข้าวนาปรังออกไปก่อน รวมถึงการรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างทั่วถึง และการวางแผนบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพก็จะช่วยบรรเทาผลที่จะเกิดขึ้นในทางลบต่อเศรษฐกิจการเกษตรได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ