สศก.คาดผลผลิตภาคเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากสภาพภูมิอากาศ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 25, 2011 12:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมในการเพาะปลูกพืชของภูมิอากาศในปัจจุบันของพืช 15 ชนิดพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของดัชนีความเหมาะสมของพืชได้รับอิทธิพลจากปริมาณน้ำฝนมากกว่าอุณหภูมิ เช่น ทุเรียน ส้ม ปาล์มน้ำมัน เงาะ ยางพารา ถั่วเหลือง และมังคุด เป็นพืชที่มีดัชนีความเหมาะสมค่อนข้างสูงในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนต่อปีมากและมีดัชนีความเหมาะสมต่ำในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนต่อปีน้อยโดยเฉพาะในพื้นที่ตอนกลางของประเทศ

พืช 4 ชนิดที่มีดัชนีความเหมาะสมสูงทั่วประเทศได้แก่ มันสำปะหลัง ลำไย ลิ้นจี่ และมะม่วง ส่วนสับปะรด ข้าวโพด และข้าว มีดัชนีความเหมาะสมค่อนสูงทั่วประเทศ

อ้อย มีดัชนีความเหมาะสมค่อนข้างน้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งน่าจะเป็นเหตุที่อธิบายว่า เพราะเหตุใดผลผลิตต่อพื้นที่ปลูกอ้อยของไทยจึงต่ำกว่าประเทศอื่น โดยทั่วไปแล้วพื้นที่เพาะปลูกจริงกับพื้นที่ที่เหมาะสมในการเพาะปลูกในเชิงภูมิอากาศเป็นพื้นที่เดียวกัน

ทั้งนี้ สศก. ได้ศึกษาเรื่องภาคเกษตรไทยกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยผลการวิเคราะห์ข้อมูลภูมิอากาศระยะยาวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่าภูมิอากาศค่อนข้างผันผวน โดยเฉพาะการกระจายของปริมาณน้ำฝนทั้งในระหว่างปีและภายในปีเดียวกัน ทำให้เกิดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่อระบบการเกษตร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากต่อเกษตรกรรายย่อย

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในปี ค.ศ 2050 ทำให้ดัชนีความเหมาะสมการเพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพืช 8 ชนิด คือ ข้าวโพด มังคุด ปาล์มน้ำมัน ส้ม เงาะ ข้าว ถั่วเหลือง และอ้อย พืชสองชนิดที่มีดัชนีความเหมาะสมลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง และสับปะรด พืช 2 ชนิดที่ดัชนีความเหมาะสมบางพื้นที่เพิ่มขึ้นบางพื้นที่ลดลงคือ ทุเรียนและยางพารา พืชที่ดัชนีความเหมาะสมไม่เปลี่ยนแปลง คือลำไย ลิ้นจี่ และมะม่วง พืช 8 ชนิดที่มีดัชนีความเหมาะสมเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภาคเหนือ อ้อยจะได้รับผลดีจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง มันสำปะหลังจะเป็นพืชที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ในขณะที่ดัชนีความเหมาะสมในการเพาะปลูกยางพาราในภาคใต้ลดลง

ด้านการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจ พบว่า ดัชนีความเหมาะสมในการเพาะปลูกพืชจะมีผลต่อผลผลิตต่อพื้นที่ การศึกษาผลกระทบต่อเศรษฐกิจในเบื้องต้นพบว่าผลผลิตต่อไร่ในปี 2050 อาจจะลดลง โดยมันสำปะหลังลดลงร้อยละ 6.64 สับปะรดลดลงร้อยละ 4.73 และ ยางพารา ร้อยละ 11.13 เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยในปัจจุบัน หากพื้นที่เพาะปลูกไม่เปลี่ยนแปลงผลผลิตมันสำปะหลังจะลดลงประมาณ 3.4 ล้านตัน สับปะรดลดลง 0.23 ล้านตัน และยางพาราลดลง 0.49 ล้านต้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 1.1พันล้านดอลล่าร์สหรัฐในปี 2050 โดยยางพาราจะได้รับความเสียหายมากที่สุดมูลค่าเกือบหนึ่งพันล้านดอลล่าร์

ผลการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสวัสดิการสังคมพบว่าผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบมากสุดประมาณร้อยละ 90 จากการเปลี่ยนแปลงส่วนเกินผู้บริโภคและส่วนเกินผู้ผลิต โดยเฉพาะยางพาราและสับปะรด

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาเป็นรายงานเบื้องต้น กำลังอยู่ในระหว่างการปรับค่าตัวแปรต่างๆให้สอดคล้องกับตัวแปรในประเทศ นอกจากนี้จะทำการเพิ่มข้อมูลชุดดิน เพื่อปรับผลการศึกษาให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ประมาณกลางปี 2554 นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ