บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดการเงินสัปดาห์หน้า (วันที่ 28 มี.ค. - 1 เม.ย.54) เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ 30.10-30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยต้องจับตาพัฒนาการของเหตุการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคอาหรับ ปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น สัญญาณการเข้าแทรกแซงเพื่อสกัดการแข็งค่าอย่างรุนแรงของเงินเยนจากทางการของกลุ่มประเทศ G-7 เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือน ก.พ. และอัตราเงินเฟ้อไทยเดือน มี.ค. รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ ประกอบด้วย ตัวเลขตลาดแรงงาน ดัชนี ISM ภาคการผลิต ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเขตชิคาโก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย ยอดสั่งซื้อของโรงงาน รายจ่ายเพื่อการก่อสร้าง รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานเดือน ก.พ. ดัชนีราคาบ้านรายงานโดย S&P/Case-Shiller เดือน ม.ค.ต่อไป
ขณะที่ตลาดเงินระยะสั้นและตลาดตราสารหนี้อัตราดอกเบี้ยตลาดเงินระยะสั้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยตลาดเงินระยะสั้นปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในกรอบแคบ โดยธนาคารพาณิชย์มีการปิดสำรองสภาพคล่องรายปักษ์ในวันอังคารและเข้าสู่ปักษ์ใหม่ในวันพุธ โดยอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทกู้ยืมข้ามคืน (Overnight) หนาแน่นในกรอบ 2.35-2.40% เทียบกับ 2.35-2.37% ในสัปดาห์ก่อน ส่วนอัตราผลตอบแทนถัวเฉลี่ยที่ประมูลได้ของธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี (Bilateral Repo) ระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน ปรับตัวในช่วง 2.47846-2.50% เทียบกับ 2.48789-2.50% ในสัปดาห์ก่อน
ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าในกรอบที่จำกัด เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียที่ได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนแรงซื้อคืนสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนที่สะท้อนผ่านมายังการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้น ก่อนที่เงินบาทจะชะลอการแข็งค่าท้ายสัปดาห์ จากแรงขายที่คาดว่าเป็นการเข้าดูแลค่าเงินจากทางการและแรงขายทำกำไร ซึ่งในวันที่ 25 มี.ค. เงินบาทปิดตลาดที่ 30.26 เทียบกับระดับ 30.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันศุกร์ก่อนหน้า