รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ในวันนี้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งเลื่อนจากปกติที่จะประชุมทุกวันอังคาร เนื่องจากติดการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณากรอบการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา(JBC)
วาระสำคัญวันนี้ จะมีการรพิจารณาอนุมัติงบประมาณ และแผนเยียวยาช่วยเหลือให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ หลังเกิดเหตุฝนตก น้ำท่วมฉับพลัน สร้างความเสียหายให้แก่อาคารบ้านเรือน และมีผู้เสียชีวิต
นอกจากนี้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเสนอให้พิจารณาปัญหาภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากเห็นว่าภัยพิบัติ เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นเหตุการณ์ใกล้ตัว และไม่สามารถแจ้งเหตุเตือนภัยให้แก่ประชาชนได้ทันเวลา อีกทั้งประชาชนยังไม่มีความรู้เท่าทันว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
ขณะเดียวกัน เตรียมเสนอปรับปรุงกลไกการบังคับบัญชาให้หน่วยงานเกี่ยวข้องทำงานได้รวดเร็ว โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นแกนหลักที่สามารถสั่งการณ์โดยตรงไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้ทันที และให้เอกชนเข้าร่วมประสานงานในหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอีกทาง
ด้านกระทรวงวัฒนธรรมรายงานผลการตรวจเยี่ยมโบราณสถานที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ให้ที่ประชุมฯ ได้รับทราบ พร้อมทั้งเร่งรัดดำเนินการประเมินค่าใช้จ่ายในการบูรณะโบราณสถานเพื่อจัดทำคำของบประมาณ
กระทรวงการคลังจะเสนอที่ประชุมเห็นชอบค่าใช้จ่ายโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 รอบที่ 2 วงเงิน 31,515 ล้านบาท แบ่งเป็น วงเงินชดเชยรายได้เกษตรกร 30,458 ล้านบาท และค่าบริหารโครงการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) ในอัตราเหมาจ่ายรายละ 315 บาท ต่อเกษตรกร 1 ราย กรณีได้สิทธิ์ชดเชย และ 289 บาท ต่อเกษตรกร 1 ราย ที่ไม่ได้สิทธิ์ชดเชยรายได้ โดยประมาณการว่ามีเกษตรกร 1 ราย ที่ไม่ได้สิทธิ์ชดเชยรายได้ร่วม 830,000 คน วงเงิน 262 ล้านบาท ขณะเดียวกัน มีค่าชดเชยต้นทุนเงินกรณีใช้ทุน ธ.ก.ส.จ่ายชดเชยต้นทุนเงินให้แก่เกษตรกรตามสัญญาประกันรายได้ ระหว่างที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณจากรัฐบาลประมาณ 765 ล้านบาทและค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์ 30 ล้านบาท
ทั้งนี้ วงเงินชดเชยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 รอบที่ 2 วงเงิน 30,458 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ 19,769.37 ล้านบาท เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายข้าว(กขช.) ให้ปรับเพิ่มราคาและปริมาณรับประกัน พร้อมกันนั้นได้เสนอให้ ครม. ทบทวนค่าใช้จ่ายดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง โดยคำนวณค่าเหมาจายต่อรายเท่ากับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้ ครม. พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 วงเงิน 2.25 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2554 จำนวน 180,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.7% เป็นรายจ่ายประจำ 1,821,493.6 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 84,142.6 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 382,289.7 ล้านบาท รายจ่ายชำระคืนเงินกู้ 46,216.7 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้ 1,900,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณขาดดุล 350,000 ล้านบาท ลดการขาดดุลลงจากปีงบประมาณก่อนหน้า 70,000 ล้านบาท หรือลดลง 16.7% คิดเป็น 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)
การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จะเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบการเสนอขอเพิ่มอัตรากำลังของพนักงาน รฟท.ใหม่ จำนวน 2,600 อัตรา ในระยะเวลา 3 ปี เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และเป็นการรองรับแผนการปรับโครงสร้างพื้นฐานของ ร.ฟ.ท.ที่ใช้เงินลงทุน 1.76 แสนล้านบาท รวมถึงการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ(BU) ซึ่ง รฟท.ได้มีการจัดจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษาและจัดทำรายละเอียด คาดว่าภายในเดือน ก.ย.54 จะสรุปรูปแบบระบบบัญชีของแต่ละหน่วยธุรกิจได้เสร็จสิ้น และหลังจากที่ผลการศึกษาแล้วเสร็จ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ระบบบัญชีของแต่ละหน่วยธุรกิจจะแล้วเสร็จสมบูรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ ครม.ปรับเพิ่มราคาน้ำนมดิบตามมติคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ในการประชุมครั้งที่ 1/2554เมื่อวันที่ 1 มี.ค.54 โดยขอปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น ก.ก.ละ 1 บาท(จากเดิมราคา 17 บาท/ก.ก. เพื่อขึ้นเป็น 18 บาท/ก.ก.)
นอกจากนี้ ยังขอให้กำหนดราคากลางเปลี่ยนแปลงใหม่ จากราคากลางตามมติ ครม.ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 13 พ.ค.52 ดังนี้ นมพาสเจอร์ไรส์ ราคากลางเดิม 6.26 บาท/ถุง ราคากลางใหม่ 6.37บาท/ถุง นมยูเอชที ชนิดกล่อง ราคากลางเดิม 7.55 บาท/กล่อง ราคากลางใหม่ 7.61/กล่อง ชนิดซอง ราคากลางเดิม 7.45บาท/ซอง ราคากลางใหม่ 7.51/ซอง ทั้งนี้ ให้มีผลนับตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554 เป็นต้นไป