สบน.เผย JCR เพิ่มเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวจาก"ลบ"เป็น"มีเสถียรภาพ"

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 29, 2011 14:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า บริษัท Japan Credit Rating Agency(JCR) ได้ปรับแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินบาทที่ออกโดยรัฐบาลไทยจากระดับที่เป็นลบ(negative outlook) มาเป็นระดับที่มีเสถียรภาพ(stable outlook)

และได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ(Foreign Currency Long-Term Senior Debts) ที่ระดับ A- และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาท(Local Currency Long-Term Senior Debts) ที่ระดับ A

"การปรับแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือ(outlook) ของประเทศไทยให้กลับมาอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพอีกครั้งสะท้อนถึงมุมมองของ JCR ว่า เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งและได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางการเมือง" นายจักรกฤศฏิ์ กล่าว

การที่ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกอย่างมาก โดยจะเห็นได้จากสัดส่วนของการออกสินค้าและการบริการที่สูงถึงร้อยละ 71 ของ GDP และจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนถึง 15.9 ล้านคนในปี 2553 โดยในปี 2551 และ 2552 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการส่งออกสินค้าในภาคอุตสาหกรรมและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงเหลือเพียงร้อยละ 2.5 ในปี 2551 และร้อยละ 2.3 ในปี 2552 ซึ่งต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยที่ร้อยละ 5.6 ระหว่างปี 2548-2550 แต่ในปี 2553 อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ที่แท้จริงได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.8 อันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งของอุปสงค์ภายในประเทศ

นอกจากนี้ปัญหาของโครงการในเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่ได้รับการแก้ไขในเดือนกันยายน 2553 และการที่ภาคธนาคารพาณิชย์ยังคงมีเสถียรภาพถึงแม้ว่าในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2554

ผู้อำนวยการ สบน.กล่าวว่า ในส่วนของความยั่งยืนทางการคลังและหนี้สาธารณะ JCR เห็นว่า ถึงแม้ว่าผลจากวิกฤตเศรษฐกิจจะทำให้รายรับจากภาษีลดลงและรายจ่ายของรัฐบาลที่ใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจนทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะและหนี้ของรัฐบาลต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 38 และ 24 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 เป็นร้อยละ 44 และ 29 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 ตามลำดับ และถึงแม้รัฐบาลจะยังดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยแต่กรอบวินัยทางการคลังที่ค่อนข้างเข้มงวดและรายได้จากภาษีที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ส่งผลให้ภาคการคลังอยู่ในระดับที่ยั่งยืน ซึ่ง JCR จะติดตามกลยุทธ์ทางการคลังของรัฐบาลใหม่ที่คาดว่าจะจัดตั้งขึ้นในปีนี้ต่อไป

ความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกและสถานะของภาคต่างประเทศของไทยมีความแข็งแกร่งอย่างมากซึ่งสะท้อนได้จากภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ได้รับการค้ำจุนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมและภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แม้จะมีสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางการเมืองเกิดขึ้นแต่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศก็ไม่ลดลง

นอกจากนี้ได้ประมาณการว่า การผลิตและการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์จะเพิ่มขึ้นจากนโยบายสบับสนุนการใช้รถ eco-car ของรัฐบาล รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยลดลงจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในปี 2551 ได้กลับคืนมาอย่างรวดเร็วจนมีจำนวนสูงสุดถึง 15.9 ล้านคน ในปี 2553 นอกจากนี้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 167.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นปี 2553 (ไม่รวมทองและเท่ากับการนำเข้า 9.7 เดือน และเท่ากับ 3.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น) โดยมากกว่าหนี้ต่างประเทศซึ่งอยู่ที่ 96.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นปี 2553 และจากการวิเคราะห์ดุลการชำระเงินในปี 2553 ทำให้ประเทศไทยมีฐานะเป็นเจ้าหนี้สุทธิ(net creditor) โดยมีสินทรัพย์ต่างประเทศมากกว่าหนี้สิน ณ สิ้นปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สถานะภาคต่างประเทศที่เข้มแข็งของไทยสามารถรองรับเหตุการณ์ไม่คาดคิดในระยะสั้นได้ ดังดูได้จากช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวในปี 2551-2552 และเหตุการณ์ความไม่มั่นคงทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี สบน.เห็นว่า ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ได้รับในขณะนี้ยังไม่อยู่ในระดับที่สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่เป็นจริง เนื่องจากตัวเลขโดยรวมทางเศรษฐกิจในประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ดี เช่น อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานที่ต่ำและรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่สูง

นอกจากนี้ แนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เป็นบวก การส่งออกที่จะยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม หากนโยบายส่งเสริมของรัฐ และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวแล้ว ทำให้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและศักยภาพของประเทศต่อความผันผวนจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจและเหตุการณ์ความไม่มั่นคงทางการเมืองที่ผ่านมาได้ และยังเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า เศรษฐกิจไทยจะยังคงเข้มแข็งและเติบโตไปได้อย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ