ส่งออกไปจีนปี 54 ยังสดใสหลังก.พ.ขยายตัว-ยอดเกินดุลสูงเป็นประวัติการณ์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 29, 2011 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การส่งออกไทยไปจีนในปี 54 ยังคงมีทิศทางที่สดใส และจีนจะยังคงรั้งตำแหน่งตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของไทยได้ต่อเนื่องจากปีก่อน

ส่วนสถานการณ์การส่งออกระหว่างไทยและจีนในระยะข้างหน้า แม้ว่าทางการจีนจะมีการปรับลดเป้าหมายอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของ GDP มาอยู่ที่ร้อยละ 7 ต่อปีในช่วงปี 54-58 จากระดับ 7.5 ต่อปีในช่วงปี 49-53 หรือล่าสุดทางการจีนก็ได้มีการปรับขึ้นสัดส่วนสำรองเงินฝากธนาคารพาณิชย์อีกเป็นครั้งที่ 3 ของปี 2554 (ทั้งนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 25 มีนาคม 2554) ที่ถือเป็นการตอกย้ำถึงการใช้มาตรการเข้มงวดทางการเงินในการชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจของทางการจีน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจมีผลต่อความต้องการการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศบ้าง แต่ก็ประเมินว่าจีนยังน่าจะคงสถานะเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวที่ค่อนข้างโดดเด่นในปี 54 และสามารถรักษาระดับการเติบโตได้เกินกว่าเป้าหมาย

ทั้งนี้ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ที่ได้เริ่มเปิดเสรีเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.53 ประกอบกับผู้ประกอบการไทยหลายรายต่างหันไปอาศัยประโยชน์จากการเชื่อมโยงโลจิสติกส์ไทย-จีนกันมากขึ้นตามลำดับ ถือว่าเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ผลักดันให้การค้าไทย-จีนกระเตื้องขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาและต่อเนื่องมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 54 โดยมีมูลค่าการส่งออกไทยไปจีนมีมูลค่าสูงถึง 2,085 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 28.2 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) เร่งสูงขึ้นจากร้อยละ 15.1 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งอาจจะสะท้อนได้ในระดับหนึ่งว่าการที่จีนเร่งนำเข้าวัตถุดิบในช่วงขาขึ้นของราคาสินค้า น่าจะเป็นไปเพื่อสต็อกสินค้าล่วงหน้า และบรรเทาปัญหาภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศไม่ให้ทวีความรุนแรงมากจนเกินไปในระยะข้างหน้าและผลักดันให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าต่อจีนในเดือนกุมภาพันธ์ถึง 254.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นยอดเกินดุลมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

ขณะที่การส่งออกปรับตัวเร่งขึ้น การนำเข้าจากจีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 กลับขยายตัวเพียงร้อยละ 6.9 ลดลงจากร้อยละ 35.6 ในเดือนก่อนหน้า หรือคิดเป็นมูลค่า 1,830.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าต่อจีนในเดือนกุมภาพันธ์ถึง 254.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการเกินดุลครั้งแรกในรอบ 12 เดือน อีกทั้งยังเป็นยอดเกินดุลมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ตรงกันข้ามกับเดือนก่อนหน้าที่สร้างสถิติยอดขาดดุลมากสุดที่ 521.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกปี 2554 ไทยเสียเปรียบดุลการค้าให้แก่จีนเพียง 266.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

หมวดสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนลดลงอย่างชัดเจนคือกลุ่มสินค้าเชื้อเพลิง(ลดลงร้อยละ 91.4) ส่วนการชะลอตัวของสินค้ากลุ่มอื่นๆน่าจะเป็นผลมาจากการหยุดการผลิตของโรงงานในเทศกาลตรุษจีน ทำให้การติดต่อสั่งซื้อสินค้าจีนชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม จีนก็ยังสามารถรั้งตำแหน่งตลาดนำเข้าที่สำคัญอันดับสองของไทยไว้ได้ ซึ่งก็คาดว่าการนำเข้าจากจีนในเดือนมีนาคม 2554 จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และอาจจะแซงหน้าญี่ปุ่นที่ครองตลาดนำเข้าสำคัญอันดับ 1 ของไทยในปัจจุบัน เนื่องจากเหตุพิบัติทางธรรมชาติและวิกฤตนิวเคลียร์ ที่มีผลให้บริษัทผู้ผลิตชั้นนำหลายแห่งในญี่ปุ่นต้องระงับการผลิต อีกทั้งอาจจะมีปัญหาสารปนเปื้อน จนอาจทำให้การนำเข้าจากญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมชะลอตัวลงได้

สินค้ารายการสำคัญโดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบของไทยไปจีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ปรับตัวเร่งขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเม็ดพลาสติก(เพิ่มขึ้นร้อยละ 91.3) ยางพารา(เพิ่มขึ้นร้อยละ 82.9) วงจรพิมพ์(เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.1) เคมีภัณฑ์(เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.1) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง(เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.8) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้(เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.3) รวมถึงน้ำมันดิบซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อนที่ไทยยังไม่ได้เคยส่งออกไปจีน ก็ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากเดือนมกราคม 2554 ในระดับร้อยละ 111.68 (MoM)

ปัจจัยที่จะสนับสนุนความสัมพันธ์ไทย-จีนที่กล่าวข้างต้นมีส่วนสำคัญให้ไทยได้มีโอกาสใช้ประโยชน์และพัฒนาศักยภาพในการร่วมมือทางด้านโลจิสติกส์ระหว่างไทย-จีนได้มากขึ้น ยิ่งถ้าหากการขนส่งจากไทยไปจีนที่ต้องผ่านทั้งลาวและเวียดนามทางชายแดนภาคตะวันออกเฉียงสามารถดำเนินการโดยไม่ต้องมีการผลัดเปลี่ยนรถที่จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งและลดความเสียหายจากการโยกย้ายขนถ่ายสินค้าได้ หรือมีการปรับปรุงระเบียบพิธีการทางศุลกากรให้ทันสมัย รวมทั้งค่าบริการในการขนส่งที่มีเสถียภาพ ก็น่าจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจ การค้าและการขนส่งของทั้งสองประเทศให้เติบโตและเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้นนอกเหนือจากการสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ไทย-จีน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ